ลูกจ้างมีสิทธิหยุดวันแรงงานแห่งชาติ แต่ถ้านายจ้างให้มาทำงาน จะผิดกฎหมายหรือเปล่า? มีกฎเกณฑ์อะไรที่ต้องรู้บ้าง? มาไขข้อสงสัยกันในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- เปิดประวัติวันแรงงานไทย-สากล "1 พฤษภาคม" ทำไมถึงหยุด?
- กฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก ที่นายจ้างต้องปฏิบัติตาม
- Q&A ทำงานและทำโอทีในวันแรงงาน ต้องได้รับค่าแรงกี่เท่า?
- วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
- มัดรวมวิธีการคำนวณโอที (OT) ทุกประเภท
ว่าด้วยเรื่องการให้ลูกจ้างทำงานวันแรงงานแห่งชาติ ทำได้หรือไม่ตามกฎหมายแรงงาน
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างจะต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าในแต่ละปี โดยต้องมีวันหยุดไม่น้อยกว่า 13 วัน ซึ่งรวมถึง "วันแรงงานแห่งชาติ" ที่ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีด้วย นายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างหยุดงานในวันนี้ และต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากับวันที่ลูกจ้างทำงานตามปกติ กรณีที่วันแรงงานแห่งชาติตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยในวันทำงานวันถัดไปแทน
Tips! อ่านบทความเกี่ยวกับวันแรงงานได้ที่นี่ >> เปิดประวัติวันแรงงานไทย-สากล "1 พฤษภาคม" ทำไมถึงหยุด?
สำหรับกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าวได้เนื่องจากลูกจ้างทำงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาลและสถานบริการการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะงานหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานนั้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดชดเชยในวันอื่นแทนหรือให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้
ข้อปฏิบัติในการให้ลูกจ้างทำงานในวันแรงงานตามกฎหมายแรงงาน
วันแรงงานแห่งชาติเป็นวันหยุดตามกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างได้พักผ่อนและสะท้อนถึงความสำคัญของแรงงานไทย แต่หากธุรกิจบางประเภทมีความจำเป็นต้องให้ลูกจ้างมาทำงานในวันดังกล่าว นายจ้างต้องรู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นธรรมกับลูกจ้าง ดังนี้
1. กรณีให้ลูกจ้างทำงานในวันแรงงานแห่งชาติ
ถ้านายจ้างมีความจำเป็นให้ลูกจ้างมาทำงานในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันหยุดตามกฎหมาย นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ
- สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ต้องจ่ายเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
- สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน (เช่น ชิ้นงาน) ต้องจ่ายเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
2. กรณีให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ
ถ้ามีการทำงานล่วงเวลาในวันแรงงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างปกติ
- สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง คำนวณตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลา
- สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน (เช่น ชิ้นงาน) คำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาล่วงเวลา
Tips! อ่านบทความเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุดได้ที่นี่ >> ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุดหมายถึงอะไร ได้ค่าตอบแทนอย่างไร
สรุป ให้ลูกจ้างทำงานวันแรงงานแห่งชาติ ทำได้หรือไม่ตามกฎหมายแรงงาน
ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี และจ่ายค่าจ้างเท่ากับวันทำงาน หากมีลูกจ้างจำเป็นต้องทำงาน ให้หยุดชดเชยในวันถัดไปหรือจ่ายเงินเพิ่มตามเกณฑ์การจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามที่กฎหมายกำหนด