จาก Work Hard สู่ Work Smart ปรับทิศทางการบริหารบุคลากรอย่างชาญฉลาด เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น ลดความเครียด และสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีคุณภาพ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- วิธีสร้าง Work-Life Balance ให้แก่พนักงาน ที่ HR ไม่ควรพลาด
- 7 เทคนิค สร้าง Teamwork ให้มีประสิทธิภาพ
- 8 Tips แชร์วิธีในการสร้าง Happy Workplace ให้กับพนักงาน
- 6 เหตุผลที่ Work from Office ยังจำเป็นสำหรับการทำงาน
- 6 แนวทางการทำงานรูปแบบ Work from Home (wfh) ให้มีประสิทธิภาพ
- 7 เหตุผลที่องค์กรควรเลือกใช้ระบบ Workflow มาช่วยในการทำงาน
Work Hard และ Work Smart คืออะไร
Work Hard หมายถึงการทำงานอย่างหนักด้วยความพยายามและทุ่มเทเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมักจะเน้นที่ปริมาณของงานหรือเวลาที่ใช้ในการทำงาน แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการทุ่มเทความพยายาม ทำงานเป็นเวลานาน และมีความรับผิดชอบสูง ตัวอย่างเช่น การทำงานล่วงเวลา หรือทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่พัก เพื่อให้ได้ผลงานตามที่ต้องการ
Work Smart หมายถึงการทำงานอย่างชาญฉลาดด้วยการวางแผนและใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยใช้เวลาน้อยลงและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด แทนที่จะเน้นปริมาณงานหรือเวลาที่ใช้ในการทำงาน โดยมุ่งเน้นการวางแผนที่ดี การจัดลำดับความสำคัญ และการใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
ทำไมองค์กรจึงควรปรับทิศทางการบริหารบุคลากรสู่ Work Smart
ในสภาพแวดล้อมการทำงานยุคปัจจุบัน การทำงานแบบ Work Hard อาจให้ผลลัพธ์ในระยะสั้น แต่ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจของพนักงานในระยะยาว เมื่อพนักงานทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าหรือภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) องค์กรเองจึงควรเห็นความสำคัญเรื่องสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) ของพนักงาน เพราะหากพวกเขาสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีสุขภาพจิตใจที่ดี พวกเขาจะมีแรงจูงใจและประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ซึ่งจะนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จในระยะยาวนั่นเอง
แนวทางบริหารบุคลากรเพื่อปรับทิศทางสู่ Work Smart
ในยุคที่การทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การบริหารบุคลากรแบบเดิมที่เน้นการทำงานหนักอาจไม่เพียงพออีกต่อไป องค์กรจำเป็นต้องปรับทิศทางสู่การทำงานอย่างชาญฉลาดหรือ Work Smart ที่เน้นการใช้ทรัพยากรและความสามารถของบุคลากรอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยเริ่มต้นจากการจัดระบบการทำงานสำหรับพนักงานอย่างเป็นระบบ ลดภาระงานที่มากเกินกว่าเวลาในการทำงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความสามารถ และสนับสนุนวิธีการและเครื่องมือสำหรับการทำงานที่เอื้อต่อความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. ปลูกฝังแนวคิดการทำงานที่เป็นระบบ
การบริหารบุคลากรเพื่อปรับทิศทางสู่ Work Smart เริ่มต้นจากการปลูกฝังแนวคิดการทำงานที่เป็นระบบ ให้บุคลากรมีวิธีคิดและการจัดการงานที่มีระเบียบแบบแผน ชัดเจน และมีการวางแผนที่รัดกุม การทำงานที่เป็นระบบช่วยให้พนักงานเข้าใจถึงกระบวนการทำงานอย่างละเอียด รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน และมุ่งเน้นที่การบรรลุเป้าหมายสำคัญมากกว่าการทำงานอย่างเร่งรีบ เช่น การอบรมทักษะด้านการจัดการเวลา (Time Management) การอบรมพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving)
2. ใช้ระบบ Workflows มาช่วยในกระบวนการทำงาน
การนำระบบ Workflows มาใช้ในกระบวนการทำงานจะช่วยให้ทุกขั้นตอนการทำงานมีความชัดเจนและเป็นระเบียบมากขึ้น Workflows ช่วยกำหนดขั้นตอนของการทำงาน ตั้งแต่การเริ่มต้นไปจนถึงการเสร็จสิ้น ช่วยให้บุคลากรเข้าใจหน้าที่ของตนเองและรู้ว่าแต่ละขั้นตอนควรทำอย่างไร ระบบนี้ยังช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการทำงาน ลดข้อผิดพลาด และทำให้การติดตามงานง่ายขึ้นด้วย Workflows พนักงานสามารถตรวจสอบความคืบหน้าและรู้สถานะของงานได้ตลอดเวลา ทำให้งานเสร็จสมบูรณ์ได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่
องค์กรควรส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาทักษะใหม่ ๆ (Reskill & Upskill) อยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ การจัดการข้อมูล การคิดเชิงวิเคราะห์ หรือทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การเรียนรู้เหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มคุณค่าของพนักงานแต่ละคน แต่ยังช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สนับสุนการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย
องค์กรควรสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการทำงาน เช่น การใช้ซอฟต์แวร์จัดการโครงการ การสื่อสารผ่านเครื่องมือออนไลน์ หรือการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจที่แม่นยำ การนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยลดภาระงานที่ซับซ้อนและเพิ่มความสะดวกในการทำงานร่วมกัน ทำให้พนักงานสามารถมุ่งเน้นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และการวางแผนได้มากขึ้น
5. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุน Work Smart
วัฒนธรรมองค์กรมีบทบาทสำคัญในการปรับการทำงานสู่ Work Smart องค์กรควรสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ โดยเน้นการทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม และการแบ่งปันความรู้ระหว่างพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างต่อความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรกล้าที่จะทดลองแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดกระบวนการทำงานอย่างชาญฉลาดแล้ว ยังทำให้เกิดนวัตกรรมและความก้าวหน้าภายในองค์กรด้วย
6. สร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลที่ส่งเสริมการทำงานแบบชาญฉลาด
การสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรหันมาทำงานแบบ Work Smart ควรมาพร้อมกับการให้รางวัลที่สอดคล้องกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินผลงานควรเน้นไปที่ผลลัพธ์และคุณภาพของงาน แทนที่จะวัดเพียงจำนวนชั่วโมงที่ทำงาน โดยการให้รางวัลอาจอยู่ในรูปแบบของโบนัส การยกย่อง หรือการให้โอกาสในการพัฒนาและก้าวหน้าในสายอาชีพ การให้รางวัลอย่างเหมาะสมจะช่วยกระตุ้นให้พนักงานมุ่งมั่นในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์
สรุป จาก Work Hard สู่ Work Smart แนวทางบริหารบุคคลอย่างชาญฉลาด
การทำงานแบบ Work Hard คือ การมุ่งเน้นการทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมาย ผ่านการทุ่มเทเวลาและความพยายาม ขณะที่ Work Smart มุ่งเน้นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ทรัพยากรและเวลาอย่างคุ้มค่า ในยุคที่การทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว องค์กรต่าง ๆ ควรปรับทิศทางสู่การทำงานอย่างชาญฉลาดหรือ Work Smart เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาระงาน และส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงาน โดยมีแนวทางประกอบด้วยการปลูกฝังแนวคิดการทำงานเป็นระบบ การใช้ Workflows ในการจัดการกระบวนการทำงาน การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างความสะดวกในการทำงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุน Work Smart และการสร้างแรงจูงใจด้วยรางวัลที่ส่งเสริมการทำงานแบบชาญฉลาด