50 ทวิ เอกสารสำคัญในการยื่นประกอบภาษี นายจ้างควรทำความเข้าใจว่า 50ทวิคืออะไร ต้องออกเอกสารเมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดต่าง ๆ ในภายหลัง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- สรรพากรแจ้ง! ยกเลิกการยื่น ภ.ง.ด 1 และ ภ.ง.ด1ก แบบกระดาษ
- การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน
- ทำธุรกิจส่วนตัวยื่นภาษี แบบไหน
- รู้จักกับ ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 และขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์
ทำความรู้จักกับใบ 50 ทวิ
ใบ 50 ทวิ หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร” คือหนังสือที่ผู้จ่ายเงินซึ่งได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกให้กับผู้รับเงินได้ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ผู้มีเงินได้จะได้รับเพื่อแสดงว่าผู้รับเงินได้ถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกับสรรพากร
สำหรับผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงิน) จะต้องเก็บใบ 50 ทวิ ดังกล่าวไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี
ตัวอย่างใบ 50 ทวิ
ใครต้องเป็นผู้ออกใบ 50 ทวิ
หลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าการออกใบ 50 ทวิ หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ จะต้องติดต่อกับกรมสรรพากรเพื่อทำการออกใบ 50 ทวิ แต่ความเป็นจริงแล้วสรรพากรไม่สามารถออกใบ 50 ทวิได้ แล้วใครกันล่ะที่สามารถออกใบ 50 ทวิได้
บอกได้เลยว่า ผู้ที่จัดทำใบ 50 ทวินั้นจะต้องเป็น “นายจ้าง” (ผู้จ่ายเงินได้) ให้แก่พนักงานที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล (ผู้รับเงินได้) ไม่ว่าจะเป็นจากการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส ค่านายหน้าต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นรายจ่ายที่พึงประเมินในใบหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) โดยการออกใบ 50 ทวินั้น นายจ้างจะต้องจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ กรณีที่จัดทำเป็นภาษาอื่น ๆ จะต้องมีคำแปลที่เป็นภาษาไทยกำกับด้วย
นายจ้าง (ผู้หักภาษี) จะต้องทำการออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) แก่พนักงานผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 2 ฉบับมีข้อความตรงกัน โดยหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) จะต้องมีข้อความด้านบนของแต่ละฉบับดังนี้
ฉบับที่ 1 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้แนบพร้อมกับแบบแสดงรายการ”
ฉบับที่ 2 มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน”
ใบ 50 ทวิจะต้องทำการออกในช่วงเวลาไหน
ในส่วนของกำหนดการในการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกันดังนี้
กรณีจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า บำเหน็จ ฯลฯ
กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า บำเหน็จ และอื่น ๆ ตามมาตรา 40(1) และ 40(2) นายจ้างจะต้องทำการออกเอกสารให้กับพนักงานหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามกำหนดดังนี้
- กรณีทำงานจนถึงสิ้นปี : นายจ้างจะต้องทำการออกใบ 50 ทวิ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดจากปีภาษี
- กรณีออกจากงานในระหว่างปี: ให้นายจ้างทำการออกใบ 50 ทวิ ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี
กรณีจ่ายเงินได้อื่น ๆ
กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินประเภทอื่น ๆ ตามมาตรา 40(3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร นายจ้างจะต้องทำการออกใบ 50 ทวิ ทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
หากพนักงานทำใบ 50 ทวิหายหรือชำรุด นายจ้างต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่พนักงานภายในบริษัทได้รับใบ 50 ทวิ หรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ แต่ทำหาย หรือทำใบ 50 ทวิขาด/ชำรุด พนักงานหรือนายจ้างจะต้องทำอย่างไรบ้าง ?
หากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นพนักงาน (ผู้รับเงิน) สามารถขอให้นายจ้าง (ผู้จ่ายเงิน) ออก “ใบแทน 50 ทวิ” ให้ได้ นายจ้างผู้ที่ต้องออก “ใบแทน 50 ทวิ” ให้กับพนักงาน สามารถออกใบแทนโดยการใช้วิธีการถ่ายเอกสารสำเนาคู่ฉบับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย หรือใบ 50 ทวิ และมีข้อความว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของเอกสาร ซึ่งนายจ้างผู้ที่มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะต้องทำการลงลายมือชื่อรับรองบนเอกสารดังกล่าวด้วย
สรุปความสำคัญของใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย)
ใบ 50 ทวิ หรือหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย เอกสารสำคัญที่นายจ้างเป็นผู้ออกใบ 50 ทวิให้ครั้งเดียว เพื่อเป็นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับพนักงานเพื่อใช้ยื่นประกอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงสิ้นปี (ภ.ง.ด. 90/91)