PageView Facebook
date_range 08/08/2024 visibility 1830 views
bookmark HR Knowledge
WHT: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร? เรื่องสำคัญที่นายจ้างควรรู้ - blog image preview
Blog >WHT: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร? เรื่องสำคัญที่นายจ้างควรรู้

บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ WHT หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร เกี่ยวข้องกับระบบองค์กรอย่างไร ใครมีหน้าที่หักภาษี และเงินได้ประเภทใดบ้างที่ต้องเสียภาษี


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:


WHT: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร?


Wht (Withholding tax) หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้าสำหรับเงินได้บางประเภท โดยกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ เช่น นายจ้าง บริษัท หรือหน่วยงาน ต้องหักภาษีล่วงหน้าจากผู้รับเงินได้ เช่น พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ให้บริการ และนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งการหักภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด


ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายคือใครบ้าง

ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย คือ บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นผู้จ่ายเงินได้ประเภทต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินได้ ดังนี้



1. นายจ้าง มีหน้าที่หักภาษีจากเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส และค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่จ่ายให้แก่พนักงาน

2. บริษัทหรือธุรกิจองค์กร ที่จ่ายเงินสำหรับบริการต่าง ๆ เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าบริการด้านไอที หรือค่าบริการจากผู้รับเหมาภายนอก ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ให้บริการ

3. สถาบันการเงิน ที่จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับลูกค้า ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยก่อนที่จะจ่ายให้แก่ลูกค้า

4. ผู้ให้เช่า ที่ได้รับเงินค่าเช่าจากผู้เช่า มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินค่าเช่าที่ตนได้รับและนำส่งกรมสรรพากร

5. บริษัทที่จ่ายเงินปันผล ให้กับผู้ถือหุ้น ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลก่อนที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้น


ประเภทเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และอัตราภาษีที่ต้องจ่าย

ประเภทเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และอัตราภาษี (ของเงินได้ทั้งปี) ที่ต้องจ่าย มีดังนี้



1. เงินได้จากค่าจ้างและเงินเดือน (อัตรา 0-35% ตามอัตราการก้าวหน้า)

พนักงานประจำที่ได้รับเงินได้เป็นเงินเดือน เมื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วหากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย หรืออัตราต่ำสุด 0% แต่หากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาทขึ้นไป จะมีอัตราการเสียภาษีตามลำดับความก้าวหน้า ดังนี้


เงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท (อัตรา 5%)

เงินได้สุทธิตั้งแต่ 300,001-500,000 บาท (อัตรา 10%)

เงินได้สุทธิตั้งแต่ 500,001-750,000 บาท (อัตรา 15%)

เงินได้สุทธิตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาท (อัตรา 20%)

เงินได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001-2,000,000 บาท (อัตรา 25%)

เงินได้สุทธิตั้งแต่ 2,000,001-5,000,000 บาท (อัตรา 30%)

เงินได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป (อัตรา 35%)

 

Tips! อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภทเงินเดือน ได้ที่นี่ >> การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน <<

 

2. เงินได้จากการจ้างทำงานหรือบริการ (อัตรา 0-35% ตามอัตราการก้าวหน้า)

การจ้างงานหรือบริการ คือ การว่าจ้างงานบุคคลธรรมดาให้ทำอะไรบางอย่าง ทั้งในแง่ของการทำสิ่งของและการให้บริการ ซึ่งหมายรวมถึงการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ด้วย โดยได้รับเงินได้จากค่าจ้างต่อครั้งเกิน 1,000 บาทขึ้นไป จะมีอัตราการเสียภาษี 0-35% ตามอัตราการก้าวหน้า

 

3. เงินได้จากการจ้างบริการวิชาชีพอิสระ  (อัตรา 3%)

การจ้างบริการวิชาชีพอิสระ คือ กลุ่มอาชีพเฉพาะทาง 6 สาขา ได้แก่ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ประณีตศิลป์ และโรคศิลปะ (วิชาชีพกลุ่มการรักษาโรค เช่น ทันตกรรม เภสัชกรรม หรือเวชกรรม) โดยกลุ่มนี้จะมีอัตราการเสียภาษี 3%

 

4. เงินได้จากการจ้างรับเหมาทำของหรือบริการ (อัตรา 3%)

การจ้างรับเหมาทำของหรือบริการ คือ การว่าจ้างให้บุคคลทำสิ่งของหรือบริการใด ๆ โดยผู้ว่าจ้างไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ให้ โดยผู้รับเหมารับจ้างจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ของตัวเอง หรือจัดหาสิ่งของด้วยตัวเอง กลุ่มนี้จะมีอัตราการเสียภาษี 3%

 

5. เงินได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ (อัตรา 5%)

ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น การเช่าสถานที่โดยผู้เช่ามีสิทธิในการถือกุญแจ การเช่ารถยนต์ ฯลฯ นอกจากนี้ค่าจ้างจากอาชีพเพื่อการบันเทิง เช่น นักแสดง ดารา นักร้อง รวมถึงรางวัลจากการแข่งขันหรือชิงโชค ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีอัตราการเสียภาษี 5%

 

6. เงินได้จากค่าโฆษณา (อัตรา 2%)

ค่าจ้างโฆษณา คือ การว่าจ้างผ่านเอเจนซี่หรือบริษัทรับทำโฆษณา ให้มีการโฆษณาหรือโปรโมทแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย โดยจะมีอัตราการเสียภาษี 2% (ยกเว้นการบริการโฆษณาด้านการตลาดจะจัดอยู่ในกลุ่มการจ้างรับเหมา)

 

7. เงินได้จากค่าขนส่ง (อัตรา 1%)

ค่าขนส่งในกรณีที่เป็นการจ้างบริการขนส่งของภาคเอกชนหรือนิติบุคคล และมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการรูปแบบการขนส่ง เช่น J&T Express Flash Express Kerry Express ฯลฯ โดยจะมีอัตราการเสียภาษี 1% (ยกเว้นไปรษณีย์ไทยจะไม่มีการหัก ณ ที่จ่ายเพราะถือเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้น)


ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. มีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (ยกเว้นบุคคลธรรมดาที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนแทน)

2. หักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่จ่ายเงินได้ตากฎหมาย

3. ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ในกรณีที่เป็นรัฐบาล หน่วยงานราชการ เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เจ้าพนักงานผู้จ่ายเงินได้ออกใบรับสำหรับค่าภาษีที่ได้หักไว้ให้แก่ผู้รับเงิน

4. นำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินต่อสำนักงาน

สรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ใกล้เคียง


สรุป WHT: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร? เรื่องสำคัญที่นายจ้างควรรู้

Wht หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ การหักภาษีล่วงหน้าสำหรับเงินได้บางประเภท ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ เช่น นายจ้าง บริษัทหรือธุรกิจองค์กร สถาบันการเงิน ผู้ให้เช่า และบริษัทที่จ่ายเงินปันผล ต้องหักภาษีล่วงหน้าจากผู้รับเงินได้ และนำส่งกรมสรรพากร โดยประเภทเงินได้ที่ต้องเสียภาษี คือ เงินได้จากค่าจ้างและเงินเดือน เงินได้จากการจ้างทำงานหรือบริการ เงินได้จากการจ้างบริการวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการจ้างรับเหมาทำของหรือบริการ เงินได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินได้จากค่าโฆษณา และเงินได้จากค่าขนส่ง โดยผู้มีเงินได้แต่ละประเภทจะมีอัตราการเสียภาษีแตกต่างกันไปตามที่กฎหมายกำหนด

 

อ้างอิง: กรมสรรพากร

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้