HR หลายคนยังสงสัยว่า Compensation คืออะไร มีองค์ประกอบอย่างไร และสามารถจัดการอย่างไรให้ดึงดูดใจพนักงาน มาหาคำตอบไปด้วยกัน
บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ :
- วิธีคำนวณสิทธิวันลาพักร้อนที่ HR ควรรู้
- จ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน ใช้หลักเกณฑ์ไหนดี?
- คำนวณเบี้ยเลี้ยงให้กับพนักงานง่าย ๆ ด้วยโปรแกรมเงินเดือน
- สวัสดิการที่ทุกบริษัทต้องมีตามกฎหมายแรงงาน
- 10 สวัสดิการที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด
Compensation คืออะไร?
Compensation (ค่าตอบแทน) หมายถึง เงิน หรือสิ่งของที่องค์กรจ่ายให้แก่บุคลากรเป็นการตอบแทนหรือแลกเปลี่ยนกับการทำงานหรือบริการจากบุคคลนั้น โดยปกติจะเป็นการจ่ายเงินในรูปแบบเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส หรือสิ่งอื่น ๆ อาจอยู่ในรูปตัวเงินคงที่ เช่น เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงประจำ หรืออยู่ในรูปแบบไม่คงที่ เช่น โบนัสตามผลงาน ค่าคอมมิชชัน หรือในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น สวัสดิการต่างๆ การใช้รถตู้ส่วนตัว การให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถเป็นสิ่งจูงใจให้กับบุคลากรในองค์กรให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสูง และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและสร้างความพึงพอใจในการทำงานในองค์กรได้อีกด้วย
องค์ประกอบของค่าตอบแทน (Compensation Mix)
Compensation หรือค่าตอบแทนหลักๆ จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ค่าตอบแทนคงที่
ค่าตอบแทนคงที่นั้นประกอบไปด้วย เงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษ ค่าครองชีพ โบนัสคงที่ และค่าตอบแทนอื่นๆ ในรูปของตัวเงินที่จ่ายให้กบบุคลากรในอัตราคงที่ ซึ่งมักจะมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของพนักงานตามคุณค่าของงาน โดยสามารถระบุเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี และมักจะพิจารณาตามระดับตำแหน่งและความสามารถของบุคคลนั้นๆ
2. ค่าตอบแทนผันแปร
ค่าตอบแทนที่ไม่คงที่ หรือแบบผันแปร จะประกอบด้วย เงินเบี้ยเลี้ยง เงินรางวัล เงินโบนัส และค่าตอบแทนอื่นๆ ที่จ่ายให้กับบุคลากรเพื่อตอบแทนตามผลสัมฤทธิ์ของงาน เช่น ส่วนแบ่งจากยอดขาย (Commission) โบนัสประจำปี โบนัสประสิทธิภาพ การชดเชยเวลาทำงานเสริม เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นผลงานและประสิทธิภาพในการทำงานตามเป้าหมาย
3. สวัสดิการและสิทธิประโยชน์
เป็นรูปแบบของค่าตอบแทนอาจรวมถึงตัวเงินหรือการให้สิทธิประโยชน์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับบุคลากร โดยอาจอยู่ในรูปแบบของสวัสดิการบริษัท เช่น วันลาพักร้อน ที่จอดรถ การท่องเที่ยวประจำปี บริการทางการแพทย์ ประกันสุขภาพ โอกาสในการพัฒนาทักษะ โอกาสในการเติบโตในองค์กร ความยืดหยุ่นในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้สึกภักดีของพนักงานที่อยู่ในองค์กร และดึงดูดพนักงานให้อยู่กับองค์กรต่อไป
กลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนในองค์กร
ในการบริหารค่าตอบแทนเชิงกลยุทธ์นั้น องค์กรสามารถออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ตามเป้าหมายของแต่ละองค์กรได้ โดยสามารถแบ่งสัดส่วนขององค์ประกอบค่าตอบแทนรวมเป็น 3 รูปแบบดังนี้
1. ตามการแข่งขันในตลาด
การบริหารค่าตอบแทนในรูปแบบนี้ มุ่งเน้นการจ่ายค่าตอบแทนคงที่เป็นหลัก โดยองค์กรสามารถออกแบบโครงสร้างเงินเดือนให้สูงกว่าค่ากลางของตลาด เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงจากตลาดแรงงาน และคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกัน
2. การจ้างงานตลอดชีพ
เป็นรูปแบบที่มักพบในราชการ รัฐวิสาหกิจ ของประเทศไทย หรือองค์กรในประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นหลัก เพื่อสร้างความผูกผันระหว่างบุคลากรกับองค์กรให้ได้มากที่สุด
3. การจูงใจระยะสั้น
เป็นรูปแบบที่มักพบในตำแหน่งงานที่เน้นยอดขายเป็นหลัก โดยเน้นการกำหนดอัตราส่วนของค่าตอบแทนจูงใจให้สูงกว่าเงินเดือน เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมของบุคลากรให้สร้างผลงานตามเป้าหมาย
สรุป Compensation คืออะไร? บริหารอย่างไรให้ดึงดูดใจพนักงาน
หลังจากที่ทราบแล้วว่า Compensation คืออะไร และมีกลยุทธ์ในการบริหารค่าตอบแทนอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการบริหารค่าตอบแทนนั้นไม่ใช่เพียงแค่การจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรเท่านั้น แต่ต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการจ่ายเงินเดือนด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทั้งแบบเป็นตัวเงิน ไม่ใช่ตัวเงิน แบบคงที่และไม่คงที่ เป็นต้น ทำให้การบริหารค่าตอบแทนนั้น มีความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ เพราะกลยุทธ์แต่ละอย่างจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเข้าสู่ยุค New Normal การลดต้นทุน หรือปรับรูปแบบธุรกิจ และการรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร ดังนั้นองค์กรจึงเป็นต้องพิจารณาการกำหนดกลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจและวัตถุประสงค์เชิงการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร เพื่อให้ทั้งบุคลากรและองค์กรได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม บุคลากรมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ช่วยลดปัญหาความเลื่อมล้ำของพนักงานภายในองค์กรได้ และที่สำคัญคือ ช่วยให้ผลประกอบการขององค์กรเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันขององค์กรในกระแสโลกาภิวัฒน์ในท้ายที่สุดด้วย