มาทำความรู้จักกับ "AQ" ว่าคืออะไร คนประเภทนี้มีลักษณะสำคัญอย่างไร และทักษะนี้สำคัญกับการทำงานของพนักงานในยุคใหม่อย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบได้จากบทความนี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- On the Job Training:OJTคืออะไร?ขั้นตอนและความสำคัญในการทำงาน
- แชร์วิธีการพัฒนา EQ ที่ทุกคนสามารถทำตามได้
- รู้จักกับ Multi Skills ทักษะมัดใจนายจ้างที่พนักงานต้องมี
- 6 ทักษะ Interpersonal Skills ที่วัยทำงานควรมี
- 7 เทคนิค พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ HR ควรรู้
ความสำคัญของ AQ
AQ หรือ Adversity Quotient คือ ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจในการเผชิญกับปัญหา เมื่อมนุษย์มีการพัฒนาทักษะ AQ ที่มากพอมนุษย์ทุกคนก็สามารถที่จะก้าวผ่านอุปสรรค และปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ในโลกการทำงานที่มีการแข่งขันสูง ความฉลาดในการเผชิญกับปัญหา หรือ AQ จึงกลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับพนักงานในยุคปัจจุบัน AQ จึงนับว่าเป็นทักษะความสามารถในการรับมือกับปัญหา และพร้อมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ
AQ กับคน 3 ประเภท
หากเปรียบเทียบภูเขา คือ อุปสรรคที่มนุษย์เราต้องก้าวผ่าน เราสามารถจำแนกคนตามระดับ AQ ออกเป็น 3 ประเภท ได้ดังนี้
Quitter มนุษย์ล้มเลิก
มนุษย์ประเภทนี้จะมี AQ ในระดับต่ำ โดยปกติแล้ว มนุษย์ประเภทนี้เมื่อพบเจอกับปัญหา พวกเขามักจะถอดใจ ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ไม่ขวนขวายหาหนทางของการแก้ไขปัญหา หากเปรียบปัญหาเหมือนยอดขา คนกลุ่มนี้เมื่อเห็นยอดเขาก็จะบอกกับตนเองว่าการปีนเขามันยากเกินไป ปีนไปก็จะรู้สึกเหนื่อยล้าเปล่า ๆ เชื่อว่าตนเองไม่มีทางปีนเขาลูกนั้นได้ คนกลุ่มนี้เลือกจะจมกับความผิดหวัง ไม่คิดจะพัฒนาศักยภาพของตนเอง หากในองค์กรมีพนักงานประเภทนี้อยู่ภายในองค์กร อาจส่งผลให้องค์กรไม่ประสบความสำเร็จ หรือก้าวหน้าต่อไปได้
Camper มนุษย์ท่าดีทีเหลว
มนุษย์ประเภทนี้จะมี AQ ในระดับปานกลาง เมื่อมองเห็นปัญหา คนประเภทนี้มักจะมีแรงกายแรงใจที่พร้อมจะต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาเปรียบเสมือนยอดเขา มนุษย์ประเภทนี้พร้อมที่จะปีนเขาจนสุดกำลัง แต่หากเกิดอาการเหนื่อยล้า เขาก็จะหยุดพัก แต่เมื่อแวะพักตั้งหลักแล้ว ก็จะมักจะเกิดความรู้สึกที่ไม่อยากไปต่อ และล้มเลิกความตั้งใจเหล่านั้นไปในที่สุด ภายในองค์กร พนักงานกลุ่มนี้มักจะมีผลงานในระดับปานกลาง แม้ไม่หนีปัญหาแต่ก็ไม่พร้อมต่อสู้ หรือพร้อมรับความท้าทายการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ เพราะติดอยู่กับพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง พนักงานกลุ่มนี้อาจส่งผลให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ยากยิ่งขึ้น
Climber มนุษย์นักปีนเขา
มนุษย์ประเภทนี้จะมี AQ ในระดับสูง เมื่อพบเจอกับปัญหา มนุษย์ประเภทนี้พร้อมสู้จนกว่าตนจะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นคนมีลักษณะนิสัยที่ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาและอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา อีกทั้งมนุษย์ประเภทนี้ยังเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก พร้อมพัฒนาตนเองอยู่เสทมอ หากปัญหาเปรียบเสมือนยอดเขา คนประเภทนี้มักมองไปจนถึงยอดเขา เพราะเป็นคนที่วางเป้าหมายในชีวิตอย่างชัดเจน และพร้อมทำทุกวิถีทางให้ตนก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ มนุษย์กลุ่มนี้หากอยู่ในองค์กรก็มักจะเป็นคนที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา พร้อมพัฒนาตนเองและองค์กรให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ
รวมวิธีพัฒนา AQ เพื่อความสำเร็จ
สำหรับพนักงานท่านใดที่ต้องการพัฒนา AQ แล้วนำไปปรับใช้ในการทำงาน เรามีข้อแนะนำดี ๆ มาฝาก ไปดูกันเลย
รู้จักการวางแผน
สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การวางแผน หากพนักงานรู้จักวางแผนให้เป็นระบบ ก็จะช่วยให้สามารถเตรียมตัว และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ควรกำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนที่ชัดเจนในการดำเนินการ เพื่อให้พร้อมเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
วิเคราะห์สถานการณ์ให้เป็น
เมื่อเผชิญกับปัญหา พนักงานควรตั้งสติและควรที่จะทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้พนักงานก็ควรใช้เทคนิคในการตั้งคำถาม เพื่อให้เข้าใจบริบท และผลกระทบของปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ หรือแก้ไขปัญหานั้น ๆ
พร้อมควบคุมสถานการณ์
เมื่อเผชิญกับปัญหา หากพนักงานสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ปกติได้ ก็จะส่งผลให้พนักงานสามารถจัดการความเครียด และพร้อมรับมือกับความกดดันได้ดี ดังนั้นพนักงานก็ควรจะต้องพัฒนาทักษะการตัดสินใจให้รวดเร็ว แม่นยำให้เกิดประสิทธิภาพใากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
ลงมือแก้ไข
เมื่อมีการวางแผน กำหนดเป้าหมาย ขั้นตอนของการแก้ปัญหาแล้ว พนักงานควรนำข้อกำหนดเหล่านั้นมาปรับใช้ในการลงมือแก้ไขปัญหา หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นการเรียนรู้ มาสั่งสมเป็นประสบการณ์ในการทำงานต่อไป
สรุป ไขข้อสงสัย "AQ" คืออะไร พร้อมวิธีพัฒนาทักษะสู่ความสำเร็จ
โดยสรุปแล้ว AQ หรือ Adversity Quotient คือ ความพร้อมในการรับมือกับปัญหา ทั้งกายและใจ เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือท้าทาย ก็พร้อมที่จะแก้ไขปัญหา ก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้อย่างชาญฉลาด โดยวิธีการพัฒนาทักษะ AQ นี้ มี 4 วิธีง่าย ๆ ได้แก่ 1. รู้จักการวางแผน 2.วิเคราะห์สถานการณ์ 3. ควบคุมสถานการณ์ และ 4. ลงมือแก้ไข หากพนักงานนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้ เชื่อได้เลยว่าจะเป็นการพัฒนาตนเองให้เกิดประสิทธิภาพ และส่งผลให้การทำงานร่วมกับองค์กรประสบความสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายได้อีกด้วย