HR ด่านแรกของการประเมินพนักงานใหม่ เพราะ “การทดลองงาน” ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อองค์กร จะมีแนวทางการประเมินพนักงานใหม่ช่วงทดลองงานอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- ปฐมนิเทศพนักงานใหม่ ต้องบอกอะไรบ้าง?
- Onboarding พนักงานใหม่ที่ HR ต้องรู้
- วิธีสัมภาษณ์พนักงานใหม่ให้ได้บุคลากรที่ตอบโจทย์องค์กร
การทดลองงาน
การทดลองงาน คือ ระยะเวลาที่นายจ้างต้องการวัดและประเมินทักษะความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทักษะการทำงานตำแหน่งนั้น ๆ ของพนักงานใหม่ ว่าสามารถทำงานและรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีมากน้อยเพียงใด ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่นายจ้างกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะบรรจุเป็นพนักงานจริง
ถึงแม้จะมีระบบสรรหาพนักงานที่ดีเพียงใด แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าองค์กรจะได้พนักงานใหม่ที่ถูกต้อง 100% ดังนั้น บทบาทของ HR จึงต้องกำหนดตัวชี้วัด Key Performance Indicator หรือ KPI ในการคัดเลือกพนักงานใหม่เบื้องต้นไว้ที่ 85% และเผื่อโอกาสผิดพลาดไว้ 15% ที่อาจส่งผลถึงการไม่ผ่านการทดลองงานนั่นเอง แต่หากเป็นการบรรจุตำแหน่งโดยคัดเลือกจากบุคคลภายใน เปอร์เซ็นต์ของการชี้วัดจะมีระดับสูงขึ้น เพราะมีโอกาสได้เห็นฝีมือการทำงาน ความรับผิดชอบ รวมถึงนิสัยใจคอกันอยู่แล้ว เกณฑ์อาจถูกกำหนดไว้ที่ 95% และสามารถทำงานผิดพลาดได้เพียง 5% เท่านั้น
ระยะเวลาในการทดลองงาน
ระยะเวลาการทดลองงานส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 120 วัน มีเพียงส่วนน้อยที่กำหนดระยะเวลาทดลองงานไว้ที่ 180 วัน เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 118 (1) กำหนดไว้ว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ดังนั้นจึงเป็นช่องว่างให้นายจ้างมักจะเลิกจ้างก่อนครบอายุงาน 120 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือข้อถกเถียงที่ว่าพนักงานทำงานครบ 120 วันหรือไม่ เพราะถ้าเลิกจ้างในวันที่ครบกำหนด หรือมากกว่า โดยที่พนักงานไม่ได้มีความผิดใด ๆ ตามมาตรา 119 นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยเหมือนพนักงานที่บรรจุปกติทั่วไป
ระหว่างช่วงเวลาทดลองงาน 120 วันนั้น นายจ้างควรประเมินการทำงานอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 2 ครั้ง ดังนี้
- ประเมินผลครั้งแรก
การประเมินผลครั้งแรกถือว่าเป็นการติดตามผลการว่าจ้าง ซึ่งอาจทำในช่วง 45 วันแรก หรือ 60 วันแรก ในการทำงาน (หรืออาจทำก่อนหน้านั้นก็ได้)
- ประเมินผลครั้งที่สอง
อาจมีการประเมินผลการทดลองอีกครั้งเมื่อทำงานได้ครบ 100 วัน เพื่อที่อีก 19 วันที่เหลือ จะได้มีเวลาพิจารณาอย่างถ้วนถี่ว่าจะให้บรรจุเป็นพนักงานประจำหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไป
แนวทางการประเมินการทดลองงาน สำหรับ HR
HR ต้องมีการทดสอบทักษะความรู้ ความสามารถพนักงานใหม่ โดยการให้พนักงานใหม่ทำงานด้วยวิธีการต่าง ๆ ก่อนจะมีการประเมินผลอีกครั้ง ว่าควรจะพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานประจำหรือไม่ วันนี้เรามีแนวทางการประเมินการทดลองงาน สำหรับ HR มาฝาก ไปติดตามกันเลย
กำหนดเกณฑ์ในการประเมิน
HR ต้องตกลงร่วมกับหัวหน้างาน และชี้แจงให้พนักงานได้รับทราบเกณฑ์การประเมินผลที่ชัดเจน ตัวชี้วัดที่ดี คือ ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับองค์กร, การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น, ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวพนักงาน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวัดกันทีเนื้องาน ผลงานของพนักงาน ว่าผลลัพธ์ตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือไม่
HR ควรพูดคุยกับหัวหน้างานอย่างสม่ำเสมอ
ช่วงทดลองงานถือเป็นโจทย์สำคัญของ HR และ หัวหน้างาน ว่าควรทำอย่างไรให้พนักงานคนนี้ได้ไปต่อ และทำงานในองค์กรได้อย่างราบรื่น เพราะการสรรหาพนักงานจนไปถึงการบรรจุเป็นพนักงานประจำ เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่อง ควรมีการอัปเดตข้อมูลซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ไม่ควรทิ้งให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การขยายเวลาทดลองงาน
การขยายเวลาทดลองงาน อาจเกิดขึ้นได้ หากองค์กรยังไม่มั่นใจว่าพนักงานใหม่จะสามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง ซึ่งสามารถทำได้โดยอาจขยายระยะเวลาไปอีก 1 – 3 เดือน และควรให้เหตุผลพร้อมบอกจุดที่ต้องการให้เขาเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา เพื่อเป็นผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงานใหม่ที่อยู่ในช่วงทดลองงานอีกด้วย
กฎหมายที่ควรรู้ เมื่อลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน
กรณีลูกจ้าง “ไม่ผ่านโปร” ควรแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน (ออกเป็นหนังสือ) ก่อนครบกำหนดระยะเวลาทดลองงาน มิฉะนั้นองค์กรจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกล่วงหน้า (ค่าตกใจ) ให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย
ส่วนกรณีที่มีการ “ต่อโปร” และพนักงานทำงานเกินระยะเวลา 120 วัน แต่สุดท้ายถูกประเมินว่ายังไม่ผ่านทดลองงาน องค์กรจะต้องจ่ายค่าชดเชย ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย และหากไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกล่วงหน้า (ค่าตกใจ) เช่นกัน
สรุปแนวทางการประเมินพนักงานช่วงทดลองงาน สำหรับ HR
ช่วงทดลองงานเป็นช่วงที่พนักงานใหม่ทุกคนจะต้องแสดงศักยภาพ ทักษะความรู้ ความสามารถ ความรับผิดชอบ รวมถึงความอดทน เพื่อทำให้ตนผ่านโปร และได้บรรจุให้เป็นพนักงานประจำได้ ดังนั้น แนวทางการประเมินพนักงานช่วงทดลองงาน สำหรับ HR จึงมีความสำคัญ เพราะ HR ถือเป็นด่านแรกของการประเมินศักยภาพและทักษะของพนักงานใหม่ HR สามารถใช้โปรแกรม Humansoft ในการช่วยประเมินพนักงานทดลองงานได้ การประเมินนี้ถือเป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจของหัวหน้างาน หรือ HR รวมทั้งยังสามารถดาวน์โหลดรายงานเป็นไฟล์ PDF เพื่อตรวจสอบได้อีกด้วย ตัวช่วยง่าย ๆ ที่จะทำให้องค์กรได้บุคลากรคนใหม่ที่ตรงกับบริบท มีความเหมาะสมทางวัฒนธรรมองค์กร และมีศักยภาพในการทำงานให้มากที่สุด