คะแนน TOEIC คืออะไร มีเกณฑ์วัดระดับผลคะแนนอย่างไร และจำเป็นสำหรับสายอาชีพไหนบ้าง วันนี้ HumanSoft มีข้อมูลมาฝาก มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- แจกคู่มือตัวอย่างการประเมินลูกน้อง ควรใช้เกณฑ์ใดในการวัดผล?
- รวมศัพท์อาชีพ HR ที่คนทำงานสาย HR พลาดไม่ได้
- 4 Steps เขียนสมัครงานผ่านอีเมลให้ดูเป็นมืออาชีพ และโดนใจ HR
- 7 เทคนิค เตรียมตัวสัมภาษณ์งานอย่างไรให้ได้งาน
- Q&A ลูกจ้างลางานไปสอบได้หรือไม่?
คะแนน TOEIC คืออะไร
คะแนน TOEIC คือ ผลจากการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษในระดับการสื่อสาร หรือ Test of English for International Communication ซึ่งเป็นการสอบมาตรฐานระดับสากล เพื่อวัดทักษะความสามารถด้านการฟังและการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับการทำงานและเชิงธุรกิจ
คะแนน TOEIC ถือเป็นเครื่องมือในการวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษเชิงการทำงานและธุรกิจในหลากหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการสมัครงาน การปรับเลื่อนตำแหน่งงาน หรือการสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก หรือแม้กระทั่งการประเมินความสามารถทางภาษาอังกฤษของพนักงานหรือลูกจ้างในด้านการสื่อสารระหว่างประเทศ เป็นต้น
คะแนน TOEIC มีหลักเกณฑ์การวัดผลอย่างไร
คะแนน TOEIC จะถูกจัดให้อยู่ในรูปแบบของคะแนนรวม (Total Score) มีช่วงคะแนนตั้งแต่ 10 ถึง 990 คะแนน โดยแบ่งคะแนนออกเป็น 2 ส่วน คือ Listening กับ Reading โดยทั้ง 2 ส่วน จะมีข้อสอบทั้งหมดส่วนละ 100 ข้อ คิดเป็น 495 คะแนน รวมทั้ง 2 ส่วนก็จะเป็น 990 คะแนน สำหรับการวัดผลคะแนน TOEIC จะไม่มีเกณฑ์ว่าสอบผ่านหรือสอบตก แต่จะเป็นการวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เข้าสอบ โดยมีเกณฑ์ทั้งหมด 6 ระดับ แต่ละระดับก็จะหมายถึงความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. International Professional Proficiency: 905 - 990 คะแนน (91% - 100%)
สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสถานการณ์ด้วยความเป็นมืออาชีพ
2. Working Proficiency Plus: 785 - 900 คะแนน (79% - 90%)
สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการได้บ่อยครั้ง
3. Limited Working Proficiency: 605 - 780 คะแนน (61% - 78%)
สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทั่วไปได้ แต่อาจใช้ในบริบทการทำงานได้อย่างจำกัด
4. Elementary Proficiency Plus: 405 - 600 คะแนน (41% - 60%)
สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสนทนาและสื่อสารแบบหน้าต่อหน้าได้
5. Elementary Proficiency: 255 - 400 คะแนน (26% - 40%)
สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างจำกัด โดยสามารถสนทนาแบบหน้าต่อหน้าด้วยประโยคที่ไม่ซับซ้อน
6. Basic Proficiency: 10 - 250 คะแนน (0% - 25%)
สามารถใช้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษได้บางโอกาสที่จำเป็นเท่านั้น
คะแนน TOEIC มีความสำคัญต่อสายอาชีพไหนบ้าง
ในปัจจุบันคะแนน TOEIC ถือเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการใช้ภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานระดับสากล ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งรัฐวิสหากิจส่วนใหญ่มีการนำคะแนน TOEIC มาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาเลือกสรรพนักงานเข้าทำงาน โดยปกติแล้วคะแนนที่เป็นมาตรฐานของการรับสมัครงานทั่วไปจะเริ่มต้นที่ 500 คะแนน ทั้งนี้เกณฑ์ของแต่ละหน่วยงานอาจจะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นของสายงาน
ตัวอย่างอาชีพต่าง ๆ ที่ต้องใช้คะแนน TOEIC เรียงตามลำดับช่วงคะแนน ดังนี้
ช่วงคะแนน 500-550 ขึ้นไป
งานวิศวกรฝ่ายขาย งานบริการด้านเทคนิค สถาปนิก ฝ่ายบัญชี ฝ่ายสรรหาและคัดสรรบุคลากร ฝ่ายการตลาด ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ช่วงคะแนน 550-650 ขึ้นไป
งานโรงแรม แผนกอาหารและเครื่องดื่ม งานด้านการท่องเที่ยว ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ เลขานุการ
ฝ่ายนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศ เป็นต้น
ช่วงคะแนน 650-750 ขึ้นไป
งานด้านสายการบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ธุรกิจระหว่างประเทศ การประสานงานระหว่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วบริษัทหรือองค์กรส่วนใหญ่มักจะมีค่าตอบแทนพิเศษ หรือ “ค่าภาษา” ให้แก่พนักงานตามขีดความสามารถจากผลคะแนน TOEIC โดยมาตรฐานแล้วค่าตอบแทนด้านภาษาของแต่ละบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ถึง 5,000 บาท
สรุป คะแนน TOEIC คืออะไร มีเกณฑ์วัดผลอย่างไร สำคัญต่ออาชีพไหนบ้าง
คะแนน TOEIC คือ ผลการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษในระดับการสื่อสาร เพื่อวัดทักษะความสามารถด้านการฟังและการอ่านภาษาอังกฤษสำหรับการทำงานและเชิงธุรกิจที่มีมาตรฐานระดับสากล มีเกณฑ์การวัดผลเป็นระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ 6 ระดับ ได้แก่ ระดับ International Professional Proficiency ระดับ Working Proficiency Plus ระดับ Limited Working Proficiency ระดับ Elementary Proficiency Plus ระดับ Elementary Proficiency และระดับ Basic Proficiency
ในส่วนของความสำคัญต่อสายอาชีพ หลายหน่วยงานใช้คะแนน TOEIC เป็นเกณฑ์ในเลือกสรรพนักงานเข้าทำงาน โดยปกติแล้วคะแนนที่เป็นมาตรฐานของการรับสมัครงานทั่วไปจะเริ่มต้นที่ 500 คะแนน ทั้งนี้อาจจะแตกต่างกันไปตามความจำเป็นของแต่ละสายงาน