ใกล้ปีใหม่แล้ว หลายองค์กรคงตื่นเต้นกับการเตรียมของขวัญปีใหม่ให้กับพนักงาน แต่รู้หรือไม่ว่าการแจกของรางวัลให้พนักงานนั้นมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย?
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- HR ห้ามพลาด! ไอเดียจัดกิจกรรมปีใหม่บริษัทสุดสร้างสรรค์
- คำอวยพรปีใหม่ 2568 ทั้งไทยและอังกฤษ พร้อมไอเดียทำการ์ดปีใหม่
- ค่าใช้จ่ายงานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท จัดการภาษีอย่างไร?
- การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน
- WHT: ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร? เรื่องสำคัญที่นายจ้างควรรู้
ทำไมของรางวัลปีใหม่พนักงาน ต้องจัดการภาษี
เมื่อถึงช่วงปีใหม่ หลายองค์กรนิยมจัดงานเลี้ยงปีใหม่และมีกิจกรรมจับฉลากหรือแจกของรางวัลให้พนักงาน เพื่อสร้างความสุขและสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยของรางวัลที่แจกให้แก่พนักงานนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น เงินสด, สิ่งของ, หรือ Gift Voucher อย่างไรก็ตาม นายจ้างหรือนักบัญชีต้องจัดการภาษีสำหรับของรางวัลเหล่านี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต
ซึ่งของรางวัลที่แจกให้พนักงานถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย เนื่องจากถือเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการทำงาน ดังนั้น นายจ้างจำเป็นต้องทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนมอบของรางวัลให้พนักงาน
จับสลาก-แจกของรางวัลปีใหม่พนักงานเสียภาษีอย่างไร
การจัดกิจกรรมจับสลากหรือแจกของรางวัลปีใหม่ให้พนักงาน หากนายจ้างได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการพนักงานไว้อย่างชัดเจน กิจกรรมดังกล่าวอาจมีประเด็นเกี่ยวกับการจัดการภาษีที่นายจ้างไม่ควรมองข้าม ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ค่าใช้จ่ายในการซื้อของรางวัลสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ หากเป็นรายจ่ายที่จัดให้เป็นสวัสดิการส่วนรวมของพนักงาน และไม่ได้มอบให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ควรมีการระบุรายละเอียดของค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในระเบียบสวัสดิการขององค์กรอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การดำเนินการควรมีหลักฐานประกอบที่ครบถ้วน เช่น ใบเสร็จรับเงิน และเอกสารการอนุมัติจากผู้มีอำนาจในองค์กร เพื่อความโปร่งใสและถูกต้องตามข้อกำหนดทางกฎหมาย
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ภาษีซื้อ และภาษีขาย ดังนี้
ภาษีซื้อ: ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าของขวัญสำหรับพนักงานในวันปีใหม่ โดยปกติถือว่าไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ดังนั้น ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร จะไม่สามารถนำภาษีซื้อนี้ไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
อย่างไรก็ตาม หากของขวัญปีใหม่ดังกล่าวถูกแจกให้พนักงานทุกคนในลักษณะของสวัสดิการ โดยไม่มีการมอบให้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น จะถือว่าเป็นสวัสดิการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และสามารถนำภาษีซื้อนั้นมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
ภาษีขาย: ภาษีขายที่เกิดจากการมอบของขวัญในกิจกรรมจับสลากหรือแจกของรางวัลให้พนักงาน แม้จะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการ แต่ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร การมอบของขวัญนี้ถือว่าเป็นการขายสินค้า ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องจัดทำใบกำกับภาษีสำหรับการมอบของขวัญดังกล่าว
3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ในกรณีที่พนักงานได้รับรางวัลจากการจับสลากหรือชิงรางวัลในงานเลี้ยงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการมอบรางวัลให้กับทุกคนหรือเฉพาะบางคน การที่พนักงานได้รับรางวัลนั้นถือว่าเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นที่พนักงานได้รับ ดังนั้น รางวัลดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องนำไปรวมเป็นรายได้ของพนักงานเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อกำหนดของกฎหมาย
4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
หลังจากที่พนักงานได้รับรางวัลแล้ว บริษัทมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายพนักงานตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
สรุปปีใหม่นี้! แจกของรางวัลพนักงานต้องจัดการภาษีอย่างไร
ช่วงปีใหม่ หลายองค์กรจัดกิจกรรมจับสลากหรือแจกของรางวัลเพื่อสร้างความสุขและกำลังใจให้พนักงาน ของรางวัลเหล่านี้ เช่น เงินสดหรือสิ่งของ ถือเป็นรายได้พนักงานที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย โดยนายจ้างมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และจัดการภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างถูกต้อง เพื่อความโปร่งใสและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย