ค่าลดหย่อนภาษีทั้งหมดที่มนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่ต้องเสียภาษี ควรรู้ไว้เพื่อเตรียมการยื่นภาษีในช่วงต้นปีที่จะมาถึงนี้ มาดูกันว่ามีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง
บทความเกี่ยวกับภาษีที่คุณอาจสนใจ :
- นายจ้างควรรู้!! ใบ 50 ทวิ คืออะไร ต้องออกเมื่อไหร่?
- รู้จักกับ ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 และขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์
- ทำธุรกิจส่วนตัวยื่นภาษี แบบไหน
- สรุปสั้นๆ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- วางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างง่าย ๆ ผ่าน App HumanSoft
การลดหย่อนภาษี คือ
การลดหย่อนภาษี ก็คือกระบวนการลดจำนวนเงินภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากรายได้หรือทรัพย์สินของเรา หรืออธิบายง่ายๆ คือวิธีที่จะประหยัดเงินเรามากขื้นนั่นเอง ซึ่งวิธีลดหย่อนภาษีสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม การซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน
รวมสิทธิลดหย่อนภาษีปี 2566
1. กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว
ผู้เสียภาษีสามารถใช้ค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ 60,000 บาท ไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยผู้เสียภาษีจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้ทันทีที่ทำการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี (ภ.ง.ด. 90, ภ.ง.ด. 91)
ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส
คู่สมรสสามารถใช้ค่าลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1 คน
- เป็นคู่ที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
- คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) คนใดคนหนึ่ง ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ในปีนั้นๆ
- กรณีที่มีรายได้ทั้งคู่ สามารถยื่นภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 120,000
ค่าลดหย่อนบุตร
บุตรชอบด้วยกฎหมาย
- หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท หากมีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนได้ไม่จำกัด ตามจำนวนบุตรจริง
บุตรบุญธรรม
- หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
- กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้
- กรณีมีบุตรชอบด้วยกฎหมายไม่ถึง 3 คน นำบุตรบุญธรรมมาหักได้รวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน
เงื่อนไขในการใช้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีบุตร
- บุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
- กรณีที่บุตรอายุ 21-25 ปี จะต้องศึกษาอยู่ในระดับปวส.ขึ้นไปเท่านั้น
- บุตรจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)
ค่าลดหย่อนภาษีบิดามารดา
1. บิดามารดาตัวเอง
ผู้ที่เลี้ยงดูบิดามารดา สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท
เงื่อนไขในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดาตัวเอง
- เป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดามารดาที่แท้จริง
- บิดามารดาจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- บิดามารดา จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
- ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำกันระหว่างพี่น้องได้
- ต้องใช้เอกสารรับรองการหักค่าลดหย่อนภาษี (ลย.03) โดยให้บิดามารดาเซ็นต์กำกับด้วย
2. บิดามารดาคู่สมรส
กรณีที่ดูแลบิดามารดาของคู่สมรส สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 30000 บาท
เงื่อนไขในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดาคู่สมรส
- เป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดามารดาที่แท้จริง
- บิดามารดาจะต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- บิดามารดา จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี
- คู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และ ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำกันกับครอบครัวฝั่งคู่สมรส
- ต้องใช้เอกสารรับรองการหักค่าลดหย่อนภาษี (ลย.03) โดยให้บิดามารดาเซ็นต์กำกับด้วย
ค่าลดหย่อนภาษีผู้พิการ หรือทุพพลภาพ
หากเป็นผู้ดูแลหรืออุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท โดยใช้เอกสารดังนี้
- บัตรประจำตัวผู้พิการ หรือใบรับรองแพทย์
- เอกสารรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ทุพพลภาพ (ลย.04)
ค่าลดหย่อนภาษีฝากครรภ์และคลอดบุตร
ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
เงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีฝากครรภ์และคลอดบุตร
- ต้องเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรที่จ่ายตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
- -นกรณีที่ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามปีที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
- ในกรณีที่ต้องยื่นภาษีทั้งสามีและภรรยา กฎหมายกำหนดให้ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรเป็นของภรรยา แต่หากภรรยาไม่มีรายได้ในปีภาษีนั้นๆ สามีจึงจะสามารถใช้สิทธิฝากครรภ์และคลอดบุตรได้
- ใช้ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
- กรณีตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว
2.กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีประกัน
ค่าลดหย่อนภาษีประกันชีวิต
ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริงที่จ่าย สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
เงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิต
- ต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
ค่าลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ
1. ประกันสุขภาพตนเอง
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25000 บาท และเมื่อรวมกันประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะต้องเป็นประกันสุขภาพในกลุ่มต่อไปนี้
- ประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาล เนื่องจากอาการเจ็บป่วยและอาการบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรืออาการบาดเจ็บ
- ประกันอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
- ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (Critical illnesses)
- ประกันสุขภาพระยะยาว (Long Term Care)
2. ประกันสุขภาพบิดามารดา
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และบิดามารดาจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลย โดยที่บิดามารดาไม่จำเป็นต้องอายุครบ 60 ปี
ค่าลดหย่อนภาษีประกันสังคม
สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
หมายเหตุ จำนวนเงินสมทบประกันสังคมอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการประกาศปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในอนาคต
3.กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีออมเงินและการลงทุน
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องเป็นประกันบำนาญที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และจะต้องทำกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอด้วย
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริง ไม่ว่าจะเป็น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 มีเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมดังนี้
- ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และสามารถขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF แต่จะต้องทำการซื้อต่อเนื่องทุกปี
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่ได้ในปีที่เริ่มลงทุน ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
กองทุนรวมเพื่อการออม SSF
กองทุนรวมเพื่อการออม SSF หรือ Super Saving Fund สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริง โดยสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ก็ได้ อาทิ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 และมีเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมดังนี้
- ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อกองทุน
- ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อกองทุน SSF และไม่ต้องซื้อกองทุนต่อเนื่องทุกปี
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ภายในปี 2563 - 2567 (ข้อมูลจาก https://www.setinvestnow.com/th/mutualfund/ssf-rmf-tax-saving-investments)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องจ่ายภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)
ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 30,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุน RMF, กบข, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนสังเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เบี้ยประกันบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
4.กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินบริจาค
เงินบริจาคทั่วไป
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น เงินบริจาคให้แก่วัด สถานศึกษาของรัฐและเอกชน องค์การของรัฐ สถานสาธารณกุศลและกองทุนสวัสดิการภายใน
Tips : สามารถตรวจสอบรายชื่อที่มีสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ที่ https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/check-donation/whitelist
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม
เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ
เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
สามารถลดหย่อนภาษ๊ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป
5.กลุ่มค่าลดหย่อนภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนภาษี
ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร ก็สามารถนำดอกเบี้ยที่เกิดจากการซื้อที่อยู่อาศัยมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีที่ซื้อแบบกู้ร่วม สิทธิลดหย่อนภาษีจะเฉลี่ยตามจำนวนคนร่วมกู้ โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ
- สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับการซื้อที่อยู่อาศัยกี่หลังก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ต้องใช้เอกสารรับรองการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เจ้าหนี้ออกให้ เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีด้วย
โครงการช้อปดีมีคืน 2566
สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 มาใช้สิทธิสดหย่อนภาษี 2566 ได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 40,000 บาท โดย 30,000 บาทแรกเป็นค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และอีก 10,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น สินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
สรุปสิทธิลดหย่อนภาษี
เมื่อทราบสิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆ กันแล้ว สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่ต้องเสียภาษีอย่างเรานั้น จะต้องเริ่มการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีถัดไป ซึ่งก็คือการวางแผนสิทธิค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ เพื่อเตรียมการยื่นภาษีออนไลน์ในต้นปีที่จะมาถึง เพื่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินภาษีและเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวเราเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในอนาคต ก็ควรที่จะเริ่มวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้แผนการใช้เงินมีความรัดกุมและเป็นระบบมากขึ้น สุดท้ายเมื่อวางแผนการเงินได้อย่างดี ชีวิตในอนาคตของเราก็จะดีมากขึ้นด้วยนั่นเอง