PageView Facebook
date_range 27/09/2024 visibility 701 views
bookmark HR Knowledge
หลักเกณฑ์การพักงาน ตามกฎหมายแรงงาน ที่นายจ้างต้องรู้!! - blog image preview
Blog >หลักเกณฑ์การพักงาน ตามกฎหมายแรงงาน ที่นายจ้างต้องรู้!!

การพักงานพนักงานตามกฎหมาย นายจ้างสามารถสั่งพักงานพนักงานได้สูงสุดกี่วัน และในวันที่พักงานนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อมกัน


อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:


ว่าด้วยเรื่องของ “การพักงาน”

“การพักงาน” หมายถึง การที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดปฏิบัติงานชั่วคราว โดยลูกจ้างยังคงสถานะเป็นพนักงานอยู่ แต่ไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาที่ถูกพักงาน ซึ่งการพักงานเรียกได้ว่าเป็นมาตรการทางวินัยที่นายจ้างหลาย ๆ องค์กรมักใช้เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างกระทำผิดวินัยในการทำงานหรือกระทำผิดตามข้อบังคับบริษัท แต่การจะสั่งพักงานพนักงานหรือลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้การพักงานพนักงานเป็นไปอย่างถูกต้องและไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา

 

นายจ้างสามารถพักงานพนักงานได้สูงสุดกี่วัน?

ตามมาตรา 116 ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างหรือพนักงาน ซึ่งกล่าวหาว่ากระทำความผิดห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้อำนาจนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้

 

ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานได้ไม่เกิน 7 วัน โดยต้องแจ้งให้พนักงานหรือลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน


ลงโทษพนักงานด้วยการพักงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่?



การลงโทษพนักงานด้วยการพักงานนั้น นายจ้างหลาย ๆ ท่านอาจตั้งข้อสงสัยว่าในระหว่างที่พักงานจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือไม่ อย่างไร?

 

คำตอบคือ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่พนักงานตามมาตรา 116 ในอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานหรือตามที่นายจ้างและพนักงานได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน

 

หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างการพักงานพนักงานได้หรือไม่?

นายจ้างสามารถลงโทษลูกจ้างด้วยการพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างได้ แต่ต้องมีข้อบังคับกำหนดโทษทางวินัยเกี่ยวกับการพักงาน โดยระบุให้มีโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และกำหนดเวลาการพักงาน จึงจะไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนการลงโทษ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9330/2542


นายจ้างสามารถสั่งพักงานได้เมื่อใด

นายจ้างสามารถสั่งพักงานลูกจ้างหรือพนักงานได้ก็ต่อเมื่อกระทำดังนี้

  1. ลูกจ้างถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในการทำงาน
  2. นายจ้างมีความประสงค์จะทำการสอบสวนลูกจ้างและพักงาน
  3. มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่านายจ้างมีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างได้
  4. นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน

 

ทั้งนี้ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิดตามที่กล่าวอ้าง ตามมาตรา 117 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานนับแต่วันที่ลูกจ้างถูกสั่งพักงานเป็นต้นไป โดยให้คำนวณเงินที่นายจ้างจ่ายตามมาตรา 116 เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามมาตรานี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 50 ต่อปี



สรุปหลักเกณฑ์การพักงานลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน

การพักงานเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่นายจ้างใช้เพื่อจัดการกับปัญหาในองค์กรได้ แต่การพักงานพนักงานหรือลูกจ้างนั้นจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ซึ่งการพักงานที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องหรือข้อพิพาททางกฎหมายตามมาได้ ดังนั้น นายจ้างควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อฟ้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้