PageView Facebook
date_range 11/09/2024 visibility 561 views
bookmark HR Knowledge
Succession Planning แผนสืบทอดตำแหน่งเพื่อความมั่นขององค์กร - blog image preview
Blog >Succession Planning แผนสืบทอดตำแหน่งเพื่อความมั่นขององค์กร

รู้จักกับ Succession Planning การวางแผนสืบทอดตำแหน่งงาน เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรในองค์กร เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการบริหาร และความยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


Succession Planning คืออะไร

Succession Planning คือกระบวนการวางแผนสืบทอดตำแหน่งในองค์กร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตรียมบุคลากรที่มีศักยภาพให้พร้อมรับบทบาทสำคัญในอนาคต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการเกษียณอายุของผู้บริหารระดับสูง การวางแผนสืบทอดตำแหน่งไม่เพียงแต่เน้นการทดแทนผู้นำ แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่ผ่านการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการสร้างโอกาสในการเติบโต เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัฒนธรรมขององค์กรในระยะยาว

 

การสืบทอดตำแหน่งมีความแตกต่างไปจากการทดแทนตำแหน่ง ตรงที่การสืบทอดตำแหน่ง เป็นกระบวนการวางแผนล่วงหน้าเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในการก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญในอนาคต เน้นการพัฒนาทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ให้ผู้สืบทอดตำแหน่ง มุ่งเน้นการสร้างความต่อเนื่องในการบริหารและความยั่งยืนขององค์กร ในขณะที่การทดแทนตำแหน่งเป็นการหาบุคคลมาแทนตำแหน่งที่ว่างลงในทันที มักเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่เน้นการพัฒนาบุคลากรในระยะยาว


ความสำคัญของ Succession Planning

Succession Planning มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากช่วยให้การจัดการทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในตำแหน่งสำคัญ ดังนี้



1. สร้างความต่อเนื่องในการบริหาร

การวางแผนสืบทอดตำแหน่งช่วยให้องค์กรมีแผนที่ชัดเจนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญ เช่น การลาออกหรือการเกษียณของผู้บริหารระดับสูง ทำให้การดำเนินงานขององค์กรไม่สะดุดและสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

 

2. ลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนผู้นำ

การวางแผนสืบทอดตำแหน่งช่วยลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนผู้นำโดยการเตรียมบุคลากรที่มีศักยภาพให้พร้อมสืบทอดตำแหน่งสำคัญเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง การมีแผนที่ชัดเจนช่วยให้บุคลากรที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดีสามารถเข้ามาแทนที่ได้ทันที ลดความเสี่ยงจากการขาดผู้นำที่มีประสบการณ์และความสามารถ ทำให้การดำเนินงานขององค์กรไม่มีช่องว่างในการบริหาร

 

3. พัฒนาอาชีพให้พนักงานเกิดความก้าวหน้า

การวางแผนสืบทอดตำแหน่งช่วยสร้างเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจนภายในองค์กร ช่วยให้พนักงานเห็นโอกาสในการก้าวหน้าและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาทักษะและความสามารถที่จำเป็น การได้รับการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาช่วยเพิ่มความมั่นใจและความพึงพอใจในงาน ส่งเสริมให้พนักงานมีความมุ่งมั่นในการทำงานและเตรียมพร้อมสำหรับบทบาทที่สูงขึ้น ซึ่งช่วยให้พวกเขามีความก้าวหน้าในอาชีพและสามารถสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้อย่างยั่งยืน

 

4. วางแผนจัดการกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การระบุตัวคนตามความสามารถและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสำหรับตำแหน่งสำคัญล่วงหน้า ช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรบุคคลเป็นไปอย่างเหมาะสมและทันเวลา ลดการขาดแคลนหรือการมีพนักงานไม่เพียงพอในช่วงเวลาสำคัญ ทั้งยังช่วยให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถปรับตัวได้ดีในสภาวะที่เปลี่ยนแปลง

 

5. สร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่น

การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญด้วยแผนที่ชัดเจนช่วยให้ทั้งพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมั่นใจว่าองค์กรมีการจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างดีและสามารถรักษาความต่อเนื่องในการดำเนินงานได้ ความมั่นใจนี้ส่งผลให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยและมุ่งมั่นในการทำงาน ส่วนผู้ลงทุนและหุ้นส่วนจะมีความเชื่อมั่นในความสามารถขององค์กรในการจัดการการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การสนับสนุนและความร่วมมือจากภายนอกแข็งแกร่งขึ้น


ขั้นตอนในการจัดทำ Succession Planning

การจัดทำ Succession Planning หรือแผนสืบทอดตำแหน่ง มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้



1. กำหนดตำแหน่งที่ต้องการทำแผนสืบทอด

การกำหนดตำแหน่งที่มีความจำเป็นต้องวางแผนผู้สืบทอดนั้นจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ผังองค์กร โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง HR และผู้บริหารระดับสูง เพื่อระบุตำแหน่งงานที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรซึ่งไม่สามารถขาดได้ ตำแหน่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีการวางแผนผู้สืบทอด เช่น ผู้บริหาร ผู้อำนวยการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นต้น

 

2. กำหนดคุณสมบัติผู้สืบทอดตำแหน่ง

เมื่อได้ตำแหน่งที่มีความจำเป็นต้องวางแผนผู้สืบทอดแล้ว HR และผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องทำการกำหนดคุณสมบัติและความสามารถที่ควรมีของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอย่างละเอียด เพื่อเป็นมาตรฐานในการสรรหาผู้สืบทอดอย่างตรงตามความต้องการ โดยอาจอ้างอิงรายละเอียดตาม Job Description

 

3. ค้นหา ระบุตัว และประเมินบุคลากรที่มีศักยภาพ

เฟ้นหาตัวผู้มีศักยภาพที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องการทดแทน ซึ่งอาจมีวิธีการคัดสรรที่แตกต่างกันไป เช่น การพิจารณาจากบุคคลที่มีตำแหน่งรองลงมา โดยควรหาไม่ต่ำกว่า 3 คน เมื่อได้ตัวผู้มีคุณสมบัติตรงตามต้องการก็ทำการประเมินและจัดลำดับตามความเหมาะสม

 

4. วางแผนพัฒนาทักษะและความสามารถของผู้สืบทอด

การวางแผนพัฒนาผู้สืบทอดแบ่งเป็น 2 ระดับ คือระดับองค์กร โดยใช้เครื่องมือการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบสากล ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผล KPI หรือ OKR และแผนการพัฒนาการประเมินส่วนบุคคล เช่น Individual Development Plan (IDP) หรือการประเมิน 360 องศา

 

5. ดำเนินการตามแผนสืบทอดตำแหน่ง

ลงมือทำตามแผนที่วางไว้ เช่น การทำโครงการพัฒนาผู้สืบทอดอย่างจริงจัง เช่น การฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการสร้างโอกาสในการเติบโต

 

6. ติดตามและปรับปรุงแผนพัฒนาอยู่เสมอ

ตรวจสอบและประเมินความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงปรับปรุงแผนตามความเปลี่ยนแปลงขององค์กรและความต้องการของบุคลากร



สรุป Succession Planning แผนสืบทอดตำแหน่งเพื่อความมั่นขององค์กร

Succession Planning เป็นกระบวนการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบทอดตำแหน่งสำคัญในองค์กร ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างความต่อเนื่องในการบริหาร ลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนผู้นำ พัฒนาอาชีพให้พนักงานเกิดความก้าวหน้า วางแผนจัดการกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่น ขั้นตอนในการจัดทำ Succession Planning เริ่มจากการกำหนดตำแหน่งที่ต้องการทำแผนสืบทอด กำหนดคุณสมบัติผู้สืบทอดตำแหน่ง ค้นหา ระบุตัว และประเมินบุคลากรที่มีศักยภาพ วางแผนพัฒนาทักษะและความสามารถของผู้สืบทอด ดำเนินการตามแผนสืบทอดตำแหน่ง และติดตามและปรับปรุงแผนพัฒนาอยู่เสมอ

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้