PageView Facebook
Published:  2025-04-09 125 views
HR Knowledge
กยศ.หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท แนวทางสำหรับนายจ้างและผู้กู้ - blog image preview
Blog >กยศ.หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท แนวทางสำหรับนายจ้างและผู้กู้

ข่าวสำคัญต้นเดือนเมษายน 2568 กยศ.ปรับเพิ่มยอดหักเงินเดือนผู้กู้ที่มียอดค้างชำระ นายจ้างต้องรับมืออย่างไร? และผู้กู้ควรทำอย่างไร? มาดูแนวทางปฏิบัติกัน


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


กยศ. แจ้งนายจ้างให้หักเงินเดือนผู้กู้ยืม 3,000 บาท

ช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 กองทุนกยศ. ได้ส่งจดหมายถึงนายจ้าง แจ้งหักเงินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนจากผู้ค้างชำระหนี้ โดยจะหักเพิ่มรายละ 3,000 บาทจากยอดเดิม มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป จนกว่าผู้กู้ยืมจะชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระเสร็จสิ้น

 

เดิมทีการหักเงินเดือนจะเป็นไปตามยอดชำระรายเดือน โดยยังไม่รวมยอดหนี้ค้างชำระย้อนหลัง ซึ่งกองทุนฯ ได้แจ้งให้ผู้กู้ชำระยอดค้างนั้นด้วยตนเองเป็นการเฉพาะราย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกองทุนฯ ตรวจสอบพบว่ามีพนักงานบางราย ไม่ได้ดำเนินการชำระหนี้ค้างชำระตามที่กำหนด กองทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ในการเรียกเก็บยอดหนี้ค้างชำระผ่านการหักเงินเดือนเพิ่มเติม


แนวทางการหักเงินเดือนกยศ. เพิ่มเติมสำหรับนายจ้าง

แนวทางการหักเงินเดือนเพิ่มเติมสำหรับนายจ้าง (เริ่มมีผลเดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป)



  • กองทุนฯ จะเพิ่มการหักเงินเดือนรายเดือนของผู้กู้ที่มีหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นอีกรายละ 3,000 บาทต่อเดือน
  • ในกรณียอดหนี้ค้างน้อยกว่า 3,000 บาท จะหักตามยอดหนี้ที่ค้างจริง
  • การหักเงินเดือนนี้จะเป็นการหักเพิ่มเติมจากยอดที่ต้องชำระรายเดือนตามปกติ

 

ตัวอย่าง

  • หากพนักงานมียอดชำระปกติ 1,000 บาท และมียอดหนี้ค้าง 5,000 บาท กองทุนฯ จะแจ้งหักเงินเดือน 1,000 + 3,000 = 4,000 บาท
  • หากพนักงานมียอดหนี้ค้าง 2,500 บาท กองทุนฯ จะแจ้งหักเงินเดือน 1,000 + 2,500 = 3,500 บาท

หมายเหตุ:

  • การหักเพิ่มเติมนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าผู้กู้จะชำระยอดค้างเสร็จสิ้น หรือมีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฯ แล้ว
  • หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ กองทุนฯ จะแจ้งยอดใหม่ที่ต้องหักเป็นรายเดือนตามสัญญาใหม่ที่ตกลงไว้

แนวทางสำหรับลูกจ้างหากไม่พร้อมให้นายจ้างหักเงินตามที่กองทุนฯ แจ้งในเดือนนี้

ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากรณีผู้กู้ที่มียอดค้างชำระหมายความว่าอย่างไร ถูกหักเงินเดือนทุกเดือน ทำไมมียอดค้างชำระ คำตอบคือยอดค้างชำระหนี้ของผู้กู้ยืมอาจเกิดจาก

  • มียอดค้างชำระหนี้ก่อนการหักเงินเดือน
  • ในระหว่างการแจ้งหักเงินเดือน ท่านมีการขอปรับลดจำนวนการหักเงิน แล้วผู้กู้ยืมไม่ได้ไปชำระส่วนต่างในวันที่ 5 กรกฎาคมของงวดปีนั้น ๆ
  • ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้างชำระหนี้ได้ด้วยตนเองผ่านทาง Mobile Application "กยศ. Connect"

 

หากลูกจ้างไม่ต้องการให้นายจ้างหักเงินตามที่กองทุนฯ แจ้งในเดือนนี้ ผู้กู้ยืมสามารถเลือกปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

  1. ดำเนินการขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อน ลดเบี้ยปรับให้ 100% และปลดผู้ค้ำประกัน โดยกองทุนจะแจ้งจำนวนเงินการหักเงินเดือนตามยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนถัดจากเดือนที่ผู้กู้ยืมได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
  2. ชำระยอดหนี้ค้างให้เสร็จสิ้น หากผู้กู้ยืมชำระแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินนำหลักฐานการชำระแจ้งต่อนายจ้าง แล้วให้นายจ้างลบยอดออก 3,000 บาท จากยอดหักเงินเดือนในเดือนเมษายน 2568 ได้



สรุป กยศ.หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท แนวทางสำหรับนายจ้างและผู้กู้

กล่าวโดยสรุป ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 กยศ. แจ้งให้นายจ้างหักเงินเดือนผู้กู้เพิ่มรายละ 3,000 บาทต่อเดือน หากยังมียอดหนี้ค้างชำระเดิมนอกเหนือจากยอดที่ต้องชำระประจำเดือน โดยหักต่อเนื่องจนกว่าจะชำระหมดหรือมีการปรับโครงสร้างหนี้ ผู้กู้ที่ไม่พร้อมให้หักเพิ่มในเดือนนี้ สามารถยื่นปรับโครงสร้างหนี้ หรือชำระหนี้ค้างทั้งหมดแล้วแจ้งหลักฐานต่อนายจ้างเพื่อยกเลิกยอดหักเพิ่มได้

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วัน ครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้