ปัญหาความเครียดของพนักงาน เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ HR ไม่ควรมองข้าม Stress Leave เข้ามาช่วย HR แก้ไขปัญหาความเครียดพนักงานได้อย่างไร ไปหาคำตอบได้จากบทความนี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- แชร์ 5 วิธีดูแลสุขภาพจิต (Mental Health) ที่ทุกคนทำตามได้
- 4 วิธีจัดการปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน ฉบับ HR
- เช็กอาการโรคซึมเศร้าของพนักงาน ด้วยแบบทดสอบโรคซึมเศร้า
- วิธีจัดการภาวะหมดไฟในการทำงานสำหรับ HR
- 4 วิธีจัดการปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน ฉบับ HR
Stress Leave คืออะไร?
Stress Leave (การลาพักงานเนื่องจากความเครียด) คือ การที่พนักงานขอลาหยุดงานชั่วคราว เนื่องจากประสบกับภาวะความเครียดทางจิตใจ เช่น ความเครียดจากการทำงาน ภาวะหมดไฟ (Burnout) หรือโรควิตกกังวล ซึ่งความเครียดเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถนะและประสิทธิภาพในการทำงาน Stress Leave ช่วยให้พนักงานได้มีเวลาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ โดยอาจเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อให้สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
สัญญาณเตือนว่าพนักงานอาจต้องการ Stress Leave
HR จะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานมีความจำเป็นต้องใช้ Stress Leave วันนี้เรารวบรวมอาการเบื้องต้นของพนักงานมาฝาก ไปดูกันเลย
สัญญาณเตือนจากร่างกายและอารมณ์
หากพนักงานเริ่มมีอาการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง นอนไม่หลับ หรือมีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นผลมาจากความเครียดที่สะสมมายาวนาน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ในขณะเดียวกัน ด้านอารมณ์และพฤติกรรมก็อาจเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน หรือเริ่มแยกตัวออกจากเพื่อนร่วมงาน สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกว่าพนักงานอาจกำลังเผชิญกับภาวะความเครียดที่ต้องการการดูแลอย่างจริงจัง
พฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
หากพนักงานที่เคยตรงต่อเวลาเริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น ขอกลับก่อนเวลา หรือขอลางานถี่มากกว่าปกติ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าพนักงานกำลังเผชิญกับความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานอาจทำให้พนักงานรู้สึกหมดไฟในการทำงาน งานที่เคยทำได้ดีอาจเริ่มมีข้อผิดพลาดมากขึ้น หรือไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามแผนที่วางไว้ได้
ความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงาน
ในหลายกรณี เพื่อนร่วมงานมักเป็นผู้ที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมของพนักงานได้เร็วกว่าผู้บริหารหรือ HR เมื่อพนักงานคนหนึ่งเริ่มแสดงพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ เช่น เงียบลง ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม หรือแสดงความเครียดออกมาอย่างชัดเจน เพื่อนร่วมงานอาจเป็นคนแรกที่รับรู้และสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับ HR ได้
Stress Leave ช่วย HR แก้ปัญหาความเครียดของพนักงานอย่างไร
ป้องกันและแก้ไขปัญหา Burnout
ความเครียดสะสมอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน HR ควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพนักงาน และเปิดโอกาสให้ลาพักเพื่อฟื้นฟูตัวเองก่อนที่ความเครียดจะกลายเป็นปัญหาร้ายแรง Stress Leave จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันภาวะหมดไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลดอัตราการขาดงานและลาออก
พนักงานที่เผชิญความเครียดต่อเนื่อง อาจตัดสินใจลาออกได้ง่าย การให้ Stress Leave เป็นทางเลือกในการพักฟื้นทั้งสุขภาพกายและใจ ทำให้พนักงานรู้สึกได้รับการดูแล และกลับมามุ่งมั่น ตั้งใจทำงานให้กับองค์กรได้มากขึ้น
สร้างความเชื่อมั่นในองค์กร
การสนับสนุน Stress Leave แสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กรในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน
สร้างวัฒนธรรมที่เป็นมิตรและเอื้อต่อการทำงาน ส่งผลให้พนักงานรู้สึกมั่นใจและผูกพันกับองค์กรมากขึ้น
เป็นเครื่องมือบริหารจัดการพนักงาน
HR สามารถใช้ข้อมูลการลา Stress Leave วิเคราะห์แนวโน้มปัญหาความเครียดและออกแบบมาตรการป้องกันได้อย่างทันท่วงที เช่น การอบรมจัดการความเครียด หรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมถึงเปิดช่องทางให้พนักงานสะท้อนปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและเพื่อนร่วมงานได้อย่างสร้างสรรค์
สรุป Stress Leave คืออะไร ช่วย HR ลดปัญหาความเครียดพนักงานอย่างไร
Stress Leave เป็นมากกว่าการลาหยุด แต่เป็นเครื่องมือช่วย HR ดูแลพนักงาน ป้องกันปัญหาหมดไฟ ลดการลาออก เสริมสร้างความมั่นใจในองค์กร และใช้เป็นแนวทางพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดีขึ้น องค์กรที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน ย่อมมีบุคลากรที่มีความสุข อีกทั้งยังส่งผลดีกับองค์กรในด้านการทำงานในระยะยาวได้อีกด้วย