PageView Facebook
date_range 19/12/2024 visibility 135 views
bookmark HR Knowledge
การคำนวณบำเหน็จบำนาญประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่HRต้องเข้าใจ - blog image preview
Blog >การคำนวณบำเหน็จบำนาญประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่HRต้องเข้าใจ

บำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคมไม่ใช่แค่เรื่องของพนักงาน แต่เป็นหน้าที่สำคัญของ HR ในการช่วยวางแผนและสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณ มาทำความเข้าใจไปด้วยกันในบทความนี้


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม


ว่าด้วยเรื่อง “บำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคม

บำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคม” เป็นสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แก่ผู้ประกันตนเมื่อถึงวัยเกษียณ เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ บำเหน็จชราภาพ เป็นเงินก้อนที่จ่ายให้ครั้งเดียว สำหรับผู้ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบตามเกณฑ์ และ บำนาญชราภาพ เป็นเงินรายเดือนสำหรับผู้ที่ส่งเงินสมทบครบไม่น้อยกว่า 180 เดือน โดยการคำนวณสิทธิจะขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนเฉลี่ยและระยะเวลาการส่งเงินสมทบ ระบบนี้ช่วยให้ผู้ประกันตนมีเงินสำรองใช้จ่ายหลังเกษียณ และยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินในระยะยาว

 

เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคมมาจากเงินสะสมของลูกจ้างที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน 5% (สูงสุด 750 บาท) โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่

    • ส่วนที่ 1: 1.5% (สูงสุด 225 บาท) สมทบกองทุนดูแลกรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ไม่สามารถขอคืนได้

    • ส่วนที่ 2: 3% (สูงสุด 450 บาท) เก็บเป็นเงินออมกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ จะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี

    • ส่วนที่ 3: 0.5% (สูงสุด 75 บาท) ใช้สำหรับประกันการว่างงาน หากตกงานสามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าไม่ใช้จะไม่ได้คืน

 

หากส่งเงินสมทบเต็มอัตรา (750 บาท/เดือน) เงิน 450 บาท จะถูกเก็บเป็นเงินออมชราภาพโดยตรง เสมือนกองทุนช่วยออมเงินในระยะยาว

 

Tips! อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> เงินชราภาพ ประกันสังคมคืออะไร สามารถขอคืนได้เมื่อไหร่ <<


คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคม

การรับสิทธิบำเหน็จบำนาญประกันสังคมกรณีชราภาพแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้



กลุ่มที่ 1 ผู้ประกันตนที่ขอรับสิทธิเอง

    • ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ต้องเป็นผู้มีอายุ ครบ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดสถานะการเป็นผู้ประกันตน

    • ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องเป็นผู้มีอายุ ครบ 60 ปีบริบูรณ์ แจ้งสิ้นสุดสถานะการเป็นผู้ประกันตน หรือเมื่อเป็นผู้ทุพพลภาพ

 

กลุ่มที่ 2 ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต

หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนรับสิทธิ ผู้มีสิทธิรับแทน ได้แก่:

    • ลูกหรือลูกบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย

    • สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้อง

    • บิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตอยู่

 

หมายเหตุ: เงื่อนไขการรับสิทธิบำเหน็จบำนาญประกันสังคมกรณีชราภาพขึ้นอยู่กับยอดจำนวนงวดของการสะสมเงินสบทบ หากสมทบเงินตั้งแต่ 1-179 งวด จะได้รับเป็นบำเหน็จ แต่หากสมทบเงินตั้งแต่ 180 งวดขึ้นไป จะได้รับเป็นบำนาญ ทั้งนี้สิทธิที่ได้รับไม่สามารถเลือกได้ ระบบจะกำหนดตามจำนวนงวดที่ส่งสมทบและอายุที่ถึงเกณฑ์


การคำนวณบำเหน็จและบำนาญชราภาพประกันสังคม

การคำนวณบำเหน็จชราภาพ

บำเหน็จชราภาพจะจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว โดยคำนวณจาก เงินสมทบส่วนชราภาพที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายรวมกัน


ตัวอย่าง: หากพนักงานส่งเงินสมทบรวม 10 ปี (120 เดือน) และฐานเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 บาท เงินสมทบส่วนชราภาพ (3% ของฐานเงินเดือน) จะเท่ากับ 450 บาท/เดือน x 120 เดือน = 54,000 บาท บวกกับผลประโยชน์จากการลงทุน

 

การคำนวณบำนาญชราภาพ

เงินบำนาญชราภาพเป็นเงินรายเดือนที่กองทุนประกันสังคมจ่ายให้ผู้ประกันตนตลอดชีวิต โดยการคำนวณจะแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

 

กรณีที่ 1: จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี)

ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน เท่ากับ 20% ของรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนสิ้นสุดสถานะผู้ประกันตน โดยฐานรายได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และต่ำสุด 1,650 บาท

 

สูตรการคำนวณ: เงินบำนาญชราภาพ = (20 × รายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) ÷ 100

 

ตัวอย่าง: หากรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย = 15,000 บาท เงินบำนาญ = (20 × 15,000) ÷ 100 = 3,000 บาทต่อเดือน

 

กรณีที่ 2: จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน (เกิน 15 ปี)

นอกจากจะได้รับเงินรายเดือนเท่ากับ 20% ของรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ผู้ประกันตนยังได้รับ เพิ่มอีก 1.5% ของรายได้เฉลี่ย ทุก ๆ 12 เดือน (1 ปี) ที่เกิน 15 ปี โดยจำนวนเดือนที่ไม่ครบ 12 เดือนจะไม่นับรวม

 

สูตรการคำนวณ: เงินบำนาญชราภาพ = [(20 + (1.5 × จำนวนปีที่เกิน 15 ปี)) × รายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย] ÷ 100

 

ตัวอย่าง: รายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย = 15,000 บาท ส่งเงินสมทบ 20 ปี (เกิน 15 ปี = 5 ปี)

เงินบำนาญ = [(20 + (1.5 × 5)) × 15,000] ÷ 100 = (20 + 7.5) × 15,000 ÷ 100 = 4,125 บาทต่อเดือน



สรุป บำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่ HR ต้องเข้าใจ

บำเหน็จบำนาญชราภาพประกันสังคมเป็นสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แก่ผู้ประกันตนเมื่อถึงวัยเกษียณ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บำเหน็จ (เงินก้อน) และบำนาญ (เงินรายเดือน) การคำนวณสิทธิจะขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนเฉลี่ยและระยะเวลาการสมทบ ผู้ที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปี (มาตรา 33, 39) หรือ 60 ปี (มาตรา 40) หรือทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต เช่น ลูก สามี ภรรยา หรือบิดามารดา ข้อมูลเหล่านี้สำคัญสำหรับการวางแผนการเงินหลังเกษียณ ดังนั้น HR หรือผู้จ้างงานควรเข้าใจระบบนี้ เพื่อให้คำแนะนำและดูแลสิทธิประโยชน์ให้พนักงานได้อย่างถูกต้อง

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้