สงสัยกันไหมคะว่าหากพนักงานประสบอุบัติเหตุ จำเป็นจะต้องใช้ลาป่วยเกิน 30 วัน HR ต้องแจ้งประกันสังคมไหม อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ
อ่านบทความเกี่ยวกับประกันสังคมเพิ่มเติม
- Q&A ไขข้อสงสัยเรื่องเช็กสิทธิประกันสังคม
- นายจ้างควรรู้ รายได้ไหน ที่ต้องยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้าง
- รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
- วิธีเช็คสิทธิประกันสังคมออนไลน์ ง่ายๆ ด้วยเลขบัตรประชาชน
Q: พนักงานประสบอุบัติเหตุ HR ต้องแจ้งประกันสังคมไหม อย่างไร?
พนักงานหรือลูกจ้างประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในเวลาทำงาน ส่งผลให้ไม่สามารถมาทำงานได้จึงจำเป็นที่จะต้องหยุดงาน อีกทั้งยังต้องใช้วันลาป่วยเกิน 30 วัน กรณีแบบนี้นายจ้างหรือ HR จะต้องแจ้งอะไรแก่ประกันสังคมไหม อย่างไร ?
A: นายจ้างหรือผู้แทนอำนาจแจ้งตามแบบ กท.16
อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น นายจ้างหรือ HR มีหน้าที่ในการยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 หรือ กท.16 โดยจะต้องทำการยื่นเรื่อง ณ สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ประจำจังหวัดหรือสาขาที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อยื่นขอ “เงินทดแทน” จากกองทุนเงินทดแทนให้กับลูกจ้าง
ทั้งนี้เงื่อนไขการได้รับกองทุนทดแทนจากประกันสังคม พนักงานจะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันที่เกิดการเจ็บป่วย หรือประสบอันตราย
Q: HR จะต้องเตรียมเอกสารอะไร เพื่อยื่นกับประกันสังคมบ้าง?
เมื่อลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย นายจ้าง หรือ HR จะต้องเตรียมเอกสารหรือเตรียมตัวในการยื่นเอกสารเพื่อยื่นขอเงินทดแทนได้อย่างไรบ้าง
A: นายจ้างต้องต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นกับประกันสังคมดังนี้
- แจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 (กท.16)
- แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) (กรณีนายจ้างส่งตัวเข้ารับ การรักษาที่สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน) ต้นฉบับพร้อมสำเนา
- ใบรับรองแพทย์ (กท.16/1)
- ใบเสร็จรับเงิน (กรณีนายจ้าง ลูกจ้างสำรองจ่าย)
- กรณีเสียชีวิต จะต้องมีหลักฐานแสดงการเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นใบชันสูตรศพ ใบมรณบัตรของลูกจ้าง ฯลฯ
- การประสบอันตรายที่ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การประสบอุบัติเหตุนอกสถานที่ อุบัติเหตุทางจราจร เป็นต้น ต้องขอหลักฐานเพิ่ม เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน บันทึกประจำวันตำรวจ แผนที่เกิดเหตุ เป็นต้น
หมายเหตุ วินิจฉัยว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิรับเงินทดแทน นายจ้างผู้ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษา จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่สถานพยาบาล ที่ให้การรักษาแก่ลูกจ้างนั้นเอง
Q: นายจ้างหรือ HR จะต้องแจ้งแบบ กท. 16 ภายในระยะเวลากี่วัน?
กรณีที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ นายจ้างหรือ HR ต้องแจ้งแบบ กท.16 ภายในระยะเวลากี่วัน
A: นายจ้างจะต้องแจ้งภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างทราบ
เมื่อนายจ้างได้รับแจ้งจากลูกจากว่าประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือสูญหายจากลูกจ้าง นายจ้างจะต้องทำการแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างทราบเรื่อง หากเกินกำหนดหรือไม่แจ้งจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีที่ลูกจ้างยื่นขอเงินทดแทนจะต้องทำการยื่นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตรายเจ็บป่วยหรือสูญหาย หรือหากการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย
สรุปพนักงานเกิดอุบัติเหตุ HR ต้องแจ้งประกันสังคมไหม อย่างไร
เมื่อพนักงานประสบอันตรายจากการทำงาน นายจ้างจะต้องทำการแจ้งการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือสูญหายต่อสำนักงานประกันสังคม (กท .16) อีกทั้งจะต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความหมาะสมแก่อันตราย หรือความเจ็บป่วยนั้น