ข่าวดีสำหรับผู้ประกันตนที่มีปัญหาเรื่องการนอน สามารถเบิกค่า Sleep test ผ่านประกันสังคมได้แล้ว เบิกค่าตรวจได้ไม่เกิน 7,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- เช็กขั้นตอนการเปลี่ยนสถานพยาบาลประกันสังคม ปี 2567
- วิธียื่นเอกสารแจ้งเข้าประกันสังคมทางออนไลน์ สำหรับนายจ้าง
- Q&A ไขข้อสงสัยเรื่องเช็กสิทธิประกันสังคม
- รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
การเบิกค่า Sleep Test
สำนักงานประกันสังคม ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน รักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP)
สำนักงานประกันสังคม ประกาศดูแลผู้ประกันตนป่วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" เบิกค่า Sleep test ได้ไม่เกิน 7,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 พร้อมแนบวิธีเช็กสัญญานเบื้องต้นภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ค่าใช้จ่ายผู้ประกันตนป่วย “โรคหยุดหายใจขณะหลับ”
เปิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกันตนป่วย “โรคหยุดหายใจขณะหลับ” จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 1 จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท
- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะหลับ)จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าอุปกรณ์เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous positive Airway Pressure - CPAP) และอุปกรณเสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานที่กำหนด เช่น เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชุดละ 20,000 บาท และ หน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชิ้นละ 4,000 บาท
หมายเหตุ: ค่าอุปกรณ์เสริม แผ่นกรองอากาศ กระดาษ และแผ่นกรองอากาศฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ์ในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน
เงื่อนไขการได้รับสิทธิ
- ผู้ประกันตนตามมาตรา33 และ มาตรา39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
Tips! อ่านบทความต่อเพิ่มเติม >> รวมสิทธิประกันสังคมทั้งหมดที่คุณต้องรู้ ม.33 ม.39 ม.40
- ผู้ประกันตนตาม มาตรา38 และ มาตรา41 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
เช็กสัญญาณเบื้องต้นภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ เป็นอันตรายและอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาจนถึงเสียชีวิตได้ พบได้ในทุกวัย มักจะพบมากในกลุ่มผู้ชาย หรือกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยสามารถเช็กอาการเบื้องต้นของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ดังนี้
- นอนกรนบ่อยมากกว่า 3 คืน/สัปดาห์
- หายใจแรงกว่าปกติในขณะนอนหลับ
- มีเสียงเงียบเหมือนหยุดหายใจสักพัก จากนั้นมีเสียงหายใจดังเฮือก
- ปัสสาวะรดที่นอน
- นอนในท่าหลับหรือแหงนคอขึ้น
- ริมฝีปากเขียวคล้ำ
- ปวดหัวเวลาตื่นนอน
- ผล็อยหลับหรือง่วงเวลากลางวัน
หากคุณมีอาการเหล่านี้ คุณอาจจะกำลังเสี่ยงกับ “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”
สรุป ข่าวดีผู้ประกันตน “ประกันสังคม" ให้สิทธิเบิก "ค่า Sleep test” ได้แล้ว
โดยสรุปแล้ว ผู้ประกันตนที่ป่วย “โรคหยุดหายใจขณะหลับ” สามารถใช้สิทธิเบิกค่า Sleep test ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริงไม่เกิน 7,000 บาท โดยเงื่อนไขการได้รับสิทธิ ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา33, 39, 38 และ 41 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ โดยผู้ประกันตนตาม มาตรา38 และ มาตรา41 ต้องได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน