รู้หรือไม่? คนว่างงานสามารถลงทะเบียนว่างงานออนไลน์เพื่อขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคม ต้องเตรียมตัวอย่างไรและมีขั้นตอนอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
ลงทะเบียนว่างงาน
ลงทะเบียนว่างงาน เป็นระบบสำหรับให้ผู้คนหางานที่เป็นผู้ประกันตนประกันสังคมในมาตรา 33 ที่ว่างงาน ออกจากงาน หรือถูกเลิกจ้าง ซึ่งเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทะเบียนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน เพื่อขอรับเงินชดเชย ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องทำการลงทะเบียนว่างงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกหรือสิ้นสุดอายุสัญญาการจ้างงาน
ขั้นตอนลงทะเบียนว่างงาน
ผู้ประกันตนที่มีสถานะว่างงานสามารถดำเนินการลงทะเบียนว่างงานได้ตามขั้นตอน ดังนี้
1. เข้าสู่ระบบของกรมการจัดหางาน
ขั้นตอนแรกคือการเข้าสู่ระบบของกรมการจัดหางานโดยการเลือกลงทะเบียน (สำหรับผู้ใช้งานใหม่) หรือลงชื่อเข้าใช้งาน (สำหรับผู้ที่มีบัญชีผู้ใช้แล้ว) โดยสามารถดำเนินการเข้าสู่ระบบของกรมการจัดหางานได้ที่ e-service.doe.go.th
2. ยินยอมให้ใช้ข้อมูล
เมื่อลงทะเบียนหรือเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้วให้ทำการอ่าน “การยินยอมให้ใช้ข้อมูล” โดยข้อมูลที่ยินยอมให้ข้อมูลได้แก่ ชื่อจริง นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน และอีเมล จากนั้นทำการกด “ยินยอม”
3. เข้าสู่ระบบบริการประชาชน (e -Service)
เมื่อเข้าสู่ระบบเข้ามาจะแสดงเมนูการบริการต่าง ๆ ให้ทำการเลือก “ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตน กรณีว่างงาน”
เมื่อคลิกเข้ามาเรียบร้อยแล้วให้ทำการเลือก “ดำเนินการต่อ” เพื่อเข้าสู่เมนูถัดไป
4. เข้าไปที่เมนูขึ้น “ทะเบียนว่างงาน” กรณีที่ต้องการขึ้นทะเบียน
เมื่อเข้าสู่ระบบบริการประชาชนเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการเข้าไปที่ “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” เพื่อบันทึกข้อมูลต่าง ๆ สำหรับการขึ้นทะเบียนว่างงาน
5. รายงานตัว
เมื่อลงทะเบียนว่างงานเรียบร้อยแล้วให้ทำการเข้าสู่ระบบอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบตารางการรายงานตัว เมื่อถึงกำหนดการรายงานตัวหรือต้องการรายงานตัวว่างงาน โดยในส่วนของการรายงานตัวจะแสดงข้อมูลกำหนดการรายงานตัว วันที่มารายงานตัว และสถานะการปฏิบัติการ ได้แก่ รายงานตัวสำเร็จ ยังไม่ถึงกำหนดรายงานตัว หรือรายงานตัว (สำหรับกดเพื่อรายงานตัว)
6. ตรวจสอบสถานะ
ทำการตรวจสอบสถานะการรับผลประโยชน์ทดแทน ได้แก่ ตรวจสอบการขึ้นทะเบียน ตรวจสอบการรายงานตัว และตรวจสอบการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน
ข้อมูลที่จำเป็นต้องกรอกในการขึ้นทะเบียนว่างงาน
- ข้อส่วนตัวของผู้ประกันตน เช่น คำนำหน้า ชื่อ-นามสกุล วัน/เดือน/ปีเกิด หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน
- วุฒิการศึกษา สถาบันการศึกษา
- สาเหตุการลาออก (กรณีลาออก ให้ทำการเลือกสาเหตุการลาออก)
- วันที่ลาออกจากงาน
- หมายเลขนิติบุคคลของบริษัท
- ตำแหน่งงาน ค่าจ้าง
- ช่องทางการรับเงิน โดยการกรอกหมายเลขบัญชีธนาคาร และแนบไฟล์หน้าสมุดบัญชีธนาคาร (หากไม่สะดวกสามารถแนบไฟล์ภายหลัง ภายใน 14 วัน)
- ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมลของผู้ประกันตน
เงื่อนไขการได้รับสิทธิจากการลงทะเบียนว่างงาน
- จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน
- ต้องไม่ถูกเลิกจ้าง สาเหตุเนื่องจากมีความผิด (กรณีถูกไล่ออกจะไม่ได้รับสิทธิ)
- อายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ผู้ประกันตนจะต้องทำการขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านระบบออนไลน์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ว่างงาน และยังไม่ได้มีการกลับเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ที่เว็บไซต์ e-service.doe.go.th
- ต้องเป็นผู้ว่างงานที่สิ้นสุดสัญญาจ้างจากนายจ้าง
ลงทะเบียนว่างงาน รับเงินชดเชยได้กี่บาท
กรณีที่ได้มีการลงทะเบียนว่างงาน ผู้ที่ขึ้นทะเบียนว่างงานและรายงานตนว่างงานจะได้รับเงินชดเชยโดยแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
1. กรณีถูกเลิกจ้าง
กรณีที่ถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน โดยการคำนวณจากฐานเงินเดือนจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ไม่เกิน 180 วันใน 1 ปีปฏิทิน
2. กรณีลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาการจ้างงาน
กรณีที่ลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาการจ้างงาน จะได้รับเงินชดเชยว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของฐานเงินเดือน โดยการคำนวณจากฐานเงินเดือนจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ไม่เกิน 90 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน
ลงทะเบียนว่างงานกี่วันจึงจะได้รับเงิน
กรณีที่ผู้ประกันตนได้ทำการรายงานตัวตามตารางการรายงานตัวผู้ว่างงาน สำนักงานระกันสังคม จะทำการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตามหมายเลขบัญชีที่มีการกรอกไว้ในระบบ โดยจะมีระยะเวลาประมาณ 5-7 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติ