เรื่องของเหตุผลลางานนับว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคลล ซึ่งล้วนมีเหตุผลการลาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพร่างกายส่วนบุคคล
เหตุผลลางานที่ผู้คนตัดสินใจลางาน
เรื่องของการลานับว่าเป็นสิทธิการลาขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ควรที่ได้รับ โดยสิทธิการลาของพนักงานในแต่ละองค์กรมีเงื่อนไขการลาที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเหตุผลลางานของพนักงานแต่ละบุคคลก็ล้วนมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของเหตุผลที่พนักงานตัดสินใจลางาน จะมีเหตุผลในเรื่องใดบ้างมาดูกันเลย
1. เหตุผลด้านสุขภาพ
ปัญหาด้านสุขภาพนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับทั้งกับตัวของพนักงานและงาน เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่ไม่ดีย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตใจทำให้ไม่มีความสุขกับการทำงานหรืออาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่บุคคลเลือกที่จะลาป่วย เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนหรือได้รับการรักษา
2. เหตุผลอันเกิดจากกิจธุระจำเป็น
เหตุผลการลาที่เกิดจากกิจธุระจำเป็น เช่น ลาเพื่อเข้ารับปริญญา ต่ออายุใบขับขี่ หรือเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น เหตุผลดังกล่าวมักส่งผลให้พนักงานเลือกที่จะลากิจ เนื่องจากเป็นกิจธุระสำคัญที่พนักงานหรือลูกจ้างจะต้องกระทำด้วยตนเอง ในบางกรณีอาจไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานมากนัก เนื่องจากพนักงานรู้ล่วงหน้า ซึ่งต้องทำการแจ้งหัวหน้างาน หรือ HR ล่วงหน้า จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนการทำงานหรือจัดการงานของตนเองให้เรียบร้อย
3. เหตุผลอันเกิดจากเหตุฉุกเฉิน
เหตุฉุกเฉินสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเมื่อ เช่น รถมีปัญหาในระหว่างเดินทาง หรือประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นได้เสมอ แต่อาจเป็นเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุจำเป็นที่พนักงานมักตัดสินใจลางาน
4. เหตุผลในการพักผ่อน
แน่นอนว่าเมื่อทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดความเครียด กังวลเรื่องงาน หรือหมดแรง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ผู้คนเลือกที่จะลางาน ลาพักร้อน เนื่องจากต้องการที่จะพักผ่อน เพื่อใช้เวลาส่วนตัวในการดูแลตัวเอง ให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย ช่วยลดความตึงเครียดหรือลดการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาภายหลัง เช่น โรคเครียด ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น
5. เหตุผลเรื่องครอบครัว
เรื่องครอบครัวนับเป็นเรื่องที่มาเป็นอันดับแรก ๆ หากคนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือลูก เกิดการล้มป่วยหรือบาดเจ็บ ก็มักเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ผู้คนมักเลือกที่จะลางาน เพื่อดูแลคนในครอบครัว
ข้อดีของการลางาน
การลางานมีข้อดีและประโยชน์ต่าง ๆ มากมายทั้งต่อตัวของบุคคลเอง รวมไปถึงการทำงาน ซึ่งมีข้อดีและประโยชน์ดังนี้
· ได้รับการพักผ่อน
การเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเมื่อ ซึ่งหากมีการเจ็บป่วยก็ควรที่จะได้รับการรักษาหรือพักผ่อน ดังนั้นการลาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อน
· สร้างความสมดุลในชีวิตและการทำงาน
การลางานช่วยให้สามารถปรับสมดุลระหว่างเวลาส่วนตัวและเวลาทำงาน ได้มีเวลาส่วนตัวและมีเวลาพักผ่อน เพื่อลดความตึงเครียดที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งส่งผลให้บุคคลสามารถบริหารเวลาชีวิตและเวลาทำงานได้ดีขึ้น
· ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี
การมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีก็ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานหรือคุณภาพของงานดีขึ้นตามไปด้วย การได้ลาเพื่อพักผ่อนหย่อนกายใจ ส่งผลให้มีความสุขและสามารถทำงานให้สำเร็จเพิ่มขึ้น
· ได้เติมพลัง
การลางานช่วยเติมพลังกายและพลังใจ เนื่องจากการทำงานอย่างต่อเนื่องอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า การลาเพื่อพักผ่อนช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและผ่อนคลาย เมื่อมีพลังที่ดีก็ส่งผลให้พร้อมทำงานให้ดีกว่าในระยะยาว
· ช่วยทำให้มีความสุขมากขึ้น
เมื่อได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็ย่อมเกิดความสุขตามมา และส่งผลให้มีความสุขในการทำงานมากยิ่งขึ้น
ข้อเสียของการลางาน
แน่นอนว่าเมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย เป็นสิ่งที่มาควบคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งข้อเสียของการลางานมีดังนี้
· ความเสียหายต่อการทำงาน
การลางานนั้นมักเกิดความเสียหายต่อการทำงานเป็นอย่างมาก เช่น งานไม่ต่อเนื่อง หรืองานล่าช้า เนื่องจากหากมีการลางาน งานที่ได้ทำอยู่นั้นก็ต้องหยุดชะงักลงเช่นเดียวกัน
· ขาดรายได้
การลางานส่งผลเสียต่อบุคคลโดยตรง เนื่องจากการลาบางประเภทเป็นการลาที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งในวันที่มีการลาดังกล่าวเกิดขึ้นก็ส่งผลให้ขาดรายได้นั้นเอง
· แผนงานถูกปรับเปลี่ยน
เมื่อมีการลาเกิดขึ้นแผนงานที่วางไว้ก็มักถูกปรับเปลี่ยนหรือในบางครั้งอาจจะต้องมีการวางแผนงานใหม่
· ลดความน่าเชื่อถือ
การลางานบ่อยจนเกินไปหรือลางานโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน อาจส่งผลให้ตัวของบุคคลเองถูกลดความน่าเชื่อถือลงได้
สรุปความสำคัญเหตุผลลางานสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจลางาน
ไม่ว่าจะลาด้วยเหตุผลประการใด ความสำคัญของเหตุผลการลางานอยู่ที่การวางแผนบริหารงาน บริหารเวลา และบริหารร่างกายจิตใจที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อองค์กรหรือกับตนเอง เมื่อบุคคลมีความสมดุลในการทำงานและชีวิตส่วนตัว ก็จะทำให้เกิดผลดีทั้งในเรื่องของด้านสุขภาพ เรื่องของความพร้อมในการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในอาชีพ
ดร.ทิโม สแตรนด์เบิร์ก (Dr. Timo Strandberg) จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดจะมาทดแทนการพักผ่อนคลายเครียดอย่างเต็มที่ได้ ตราบใดที่ยังทำงานหนักโดยไม่หยุดพัก การพยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำให้มีสุขภาพดีนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
01/06/2023 174302 views
HR Knowledge