หลายคนสงสัยว่าการลาออกจากงานจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้านานแค่ไหน? โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน เป็นความจริงหรือไม่ มาทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนค่ะ
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- Q&A พนักงานลาออก ตามกฎหมายแรงงานต้องได้รับอนุมัติจาก HR ไหม?
- Q&A สัญญาจ้างงานบริษัท 1 ปี แต่พนักงานขอลาออกก่อนได้ไหม?
- “พ้นสภาพ” กับ “ลาออก” ของพนักงานต่างกันอย่างไร?
- ไขข้อสงสัย ประวัติพนักงานลาออก HR ต้องจัดเก็บกี่ปี
- เมื่อลูกจ้าง"ลาออก" โดยไม่แจ้งล่วงหน้า จะเป็นอะไรไหม?
ลาออกต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน? แจ้งน้อยกว่า 30 วัน ได้ไหม
การลาออกของพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ องค์กร ซึ่งหลายครั้งเมื่อมีพนักงานลาออกคำถามที่ตามมาคือ “ลาออกต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน?” หรือ “แจ้งน้อยกว่า 30 วัน ได้ไหม” มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลยค่ะ
หากพนักงานแจ้งลาออกโดยไม่ครบกำหนดตามที่ระบุในระเบียบข้อบังคับฯ นั้นสามารถทำได้ แต่อาจถือว่าการลาออกนั้นไม่ถูกต้องตามระเบียบการทำงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (มาตรา 17 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551) ในกรณีที่บริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากการลาออกดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากพนักงานได้ ทั้งนี้ การกำหนดค่าเสียหายขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลแรงงาน ซึ่งจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงและสถานการณ์ในกรณีนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่สามารถพิสูจน์ความเสียหายศาลอาจยกฟ้องได้
ดังนั้น หากพนักงานมีความจำเป็นต้องลาออกล่วงหน้าน้อยกว่า 30 วัน แนะนำว่าควรแจ้งลาออกกับฝ่าย HR หรือนายจ้างให้ถูกต้อง และควรเคลียร์งานที่ค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายในงานและข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
พนักงานสัญญาจ้างรายปีต้องแจ้งลาออกล่วงหน้ากี่วัน
การแจ้งลาออกของพนักงานสัญญาจ้างแบบรายปีขอแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีที่ลาออกเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง และ 2. กรณีที่พนักงานต้องการลาออกแต่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างโดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กรณีที่ลาออกเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง
ตามมาตรา 17 ของกฎหมายกำหนดไว้ว่า “สัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า” ดังนั้น เมื่อถึงวันครบกำหนดของสัญญาจ้าง พนักงานสามารถลาออกได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า เนื่องจากในสัญญาจ้างรายปีมักระบุวันสิ้นสุดสัญญาไว้อย่างชัดเจน
2. กรณีที่พนักงานต้องการลาออกแต่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง
กรณีที่พนักงานต้องการลาออกแต่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง พนักงานสามารถลาออกได้ แต่ก็มีโอกาสถูกฟ้องร้องในภายหลัง เนื่องจากสัญญาจ้างนั้นมักกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนแต่หากลูกจ้างลาออกก่อนครบกำหนดสัญญา นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ในกรณีที่ในสัญญาจ้างระบุ หรือกำหนดรายละเอียดการเสร็จสิ้นของงานนั้น ๆ ไว้ ดังนั้น ลูกจ้างจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นสำคัญ
Tips! อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >> Q&A สัญญาจ้างงานบริษัท 1 ปี แต่พนักงานขอลาออกก่อนได้ไหม?
ทำไมจึงนิยมกำหนดให้ลาออกแจ้งล่วงหน้า 30 วัน?
องค์กรหลายแห่งมักระบุในนโยบายบริษัท หรือข้อบังคับการทำงานว่าพนักงานควรแจ้งลาออกล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เหตุผลหลักคือ
1. เพื่อให้มีเวลาหาคนมาแทน
การหาพนักงานใหม่หรือโอนย้ายงานภายในเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ตั้งแต่การประกาศรับสมัคร การสัมภาษณ์ ไปจนถึงการปฐมนิเทศ ดังนั้นการแจ้งล่วงหน้าจึงช่วยให้กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น
2. เพื่อให้พนักงานได้โอนย้ายงานอย่างเป็นระบบ
ในบางตำแหน่ง พนักงานอาจมีหน้าที่สำคัญที่ต้องการการส่งต่องานหรือฝึกอบรมพนักงานคนใหม่ การแจ้งล่วงหน้า 30 วันทำให้องค์กรมีเวลาเพียงพอในการจัดการเหล่านี้
3. ลดผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร
เมื่อพนักงานแจ้งล่วงหน้าเพียงพอ องค์กรสามารถบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทีมงานหรือโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่
สรุปบทความพนักงานลาออกต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน? จำเป็นต้อง 30 วันไหม?
บริษัทส่วนใหญ่มักกำหนดให้พนักงานแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วัน หรือ 1 รอบการจ่ายเงินเดือน เพื่อให้มีเวลาหาคนแทน โอนย้ายงานอย่างเป็นระบบ และลดผลกระทบต่อการทำงานขององค์กร ดังนั้น หากพนักงานต้องการลาออก ควรแจ้งลาออกตามระเบียบฯ หรือถ้าจำเป็นต้องแจ้งน้อยกว่า 30 วัน ควรแจ้งกับ HR หรือผู้บังคับบัญชา พร้อมเคลียร์งานและทรัพย์สินบริษัทให้เรียบร้อย เพื่อให้การลาออกเป็นไปอย่างถูกต้องและราบรื่น