HR หลายคนอาจเจอคำถามว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างนั้น หากลาออกจากงานแล้ว ทำอย่างไรกับเงินในกองทุนได้บ้าง? มาหาคำตอบกันในบทความนี้
Q : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างลาออกต้องทำอย่างไร?
A : สำหรับแนวทางการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงาน นั้นมีอยู่ 4 แนวทาง ดังนี้
1. คงเงินไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม
หากลูกจ้างลาออกจากบริษัทเดิมแล้ว แต่ยังเลือกกองทุนของบริษัทใหม่ไม่ได้ สามารถคงเงินไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมไว้ก่อนในระยะเวลาที่กองทุนกำหนดได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย
2. ย้ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทใหม่
ลูกจ้างที่ลาออกจากบริษัทเดิม สามารถโอนย้ายเข้ากองทุนของบริษัทใหม่ได้ทันที โดยวิธีนี้จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าภาษีใดๆ ด้วย
3. ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เมื่อลูกจ้างลาออกจากบริษัทเดิมแล้วบริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ ลาออกไปประกอบอาชีพอิสระ ทำธุรกิจส่วนตัว ก็สามารถลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ แต่การลาออกนั้นจะต้องเสียภาษี หากผู้ลาออกยังอายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนน้อยกว่า 5 ปี
4. โอนเข้าไปซื้อกองทุนรวม RMF for PVD
การโอนเข้าไปซื้อกองทุนรวม RMF for PVD นี้ เหมาะสำหรับผู้ที่เข้าบริษัทใหม่แล้วไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัว ประกอบอาชีพอิสระเช่นกัน แต่วิธีนี้จะไม่เสียภาษีจากการลาออกก่อนถึงอายุเกษียณ และไม่เสียค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการคงค้างเงินไว้ในกองทุนเดิม
สรุปแนวทางจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างลาออกจากงาน
เมื่อองค์กรมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Povident Fund) แน่นอนว่าก็ต้องเป็นหน้าที่ของ HR ที่ต้องบริหารจัดการกองทุน และผู้ที่เข้าร่วมกองทุน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณเงินกองทุน หรือการให้ข้อมูลแก่พนักงานเมื่อติดปัญหาหรือต้องการรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งในกรณีที่ลูกจ้างลาออกแล้ว HR ก็ควรให้ข้อมูลในเรื่องของแนวทางการจัดการกองทุนให้กับลูกจ้างต่อไป เพื่อให้ลูกจ้างได้รับผลประโยชน์สูงสุดตามที่ตั้งเป้าหมายไว้และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้อย่างถูกวิธี
24/11/2023 27621 views
HR Knowledge