การช่วยพนักงานจัดการปัญหาสุขภาพจิต จะช่วยให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตในแบบที่ HR สามารถทำได้นั้น ดูในบทความนี้
บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ :
- วิธีเช็คภาวะหมดไฟของพนักงาน ด้วยแบบประเมินความเครียด
- การเปลี่ยนกะทำงานอย่างไร ให้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
- เช็กอาการโรคซึมเศร้าของพนักงาน ด้วยแบบทดสอบโรคซึมเศร้า
- Checklist อาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม
4 วิธีจัดการปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน ฉบับ HR
ในยุคปัจจุบันที่ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือโรคระบาด ที่ทำให้บทบาทในหลายๆ ด้านของการทำงานนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พนักงานหลายคนได้พบเจอกับปัญหาที่ไม่เคยประสบมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเครียดสูง เสี่ยงโรคซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตต่อไปได้ และแน่นอนว่า ย่อมกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายเรื่องใหม่สำหรับ HR ที่จะต้องมองหาวิธีการดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงานควบคู่ไปกับสุขภาพกาย โดยวิธีจัดการปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน ที่ HR สามารถจัดการได้ดังนี้
1. ส่งเสริมเรื่องการพูดคุยกันให้มากขึ้น
เพราะมนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์สังคม หากได้พูดคุยกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่นอกเหนือจากการทำงานแล้ว จะช่วยให้พนักงานได้ระบายความรู้สึก หรือระบายความเครียดในชีวิตได้มากขึ้น โดยลองจัด session เบาๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกับเรื่องงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือมากกว่านั้น อาจจะเป็นการแชร์เนื้อหาเบาๆ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น เรื่องของเป้าหมายและความฝันที่นอกเหนือจากการทำงาน งานอดิเรกที่ชอบทำ หรือเรื่องอื่นๆ ที่อยากเปิดใจคุยกัน เป็นต้น
2. ให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance
หากพนักงานไม่สามารถแยกแยะระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานได้ หรือทำได้ไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดทั้งปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาก็เป็นได้ และแน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น สิ่งที่ HR สามารถช่วยได้คือส่งเสริมเรื่องของ Work-Life Balance สำหรับพนักงานให้มากขึ้น เช่น สามารถยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงานให้กับพนักงาน จัดโซนพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้พนักงานรู้สึก Relax มากขึ้นเวลาอยู่ที่ทำงาน เป็นต้น
3. ทำความเข้าใจและเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น
หากพนักงานกำลังพบเจอกับปัญหาสุขภาพจิตรุมเร้าแล้วล่ะก็ HR สามารถที่จะใส่ใจและทำความเข้าใจพนักงานในลักษณะของความเป็นเพื่อนให้มากขึ้น ในบางสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่น HR ก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม ถึงแม้ว่าแต่ละบริษัทนั้นจะมีกฎในการทำงานและอยู่ร่วมกันก็ตาม HRสามารถดูแลให้พนักงานอยู่ในกรอบไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจ และช่วยเหลือให้พนักงานผ่านเรื่องนั้นๆ ไปให้ได้โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับเรื่องงาน
4. คุยแบบตัวต่อตัว
ปัญหาบางปัญหา ก็เป็นปัญหาส่วนตัวของพนักงานที่ไม่สามารถให้คนอื่นร่วมรับรู้ได้ การเรียกคุยแบบตัวต่อตัว ปรึกษาปัญหานั้นๆ ให้กระจ่าง ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้พนักงานผ่านปัญหานั้นไปได้อย่างสบายใจ โดย HR ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าว่าปัจจัยที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขนั้นคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน สภาพแวดล้อมที่ทำงาน หรือชีวิตส่วนตัวอื่นๆ ก็ตาม โดยปราศจากความกดดัน เพื่อให้พนักงานรู้สึกสบายใจและอยากจะเล่าออกมาเอง
สรุปวิธีจัดการปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน ฉบับ HR
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานส่วนใหญ่มักมาจากที่ทำงาน เพราะในชีวิตคนเรานั้น อยู่ที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้าน ใช้ชีวิตกับเพื่อนร่วมงานมากกว่าครอบครัว ดังนั้นวิธีจัดการปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานของ HR จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและมองข้ามไปไม่ได้เลย นอกจากนั้น หากพนักงานไร้ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานแล้วล่ะก็ จะทำให้องค์กรได้รับผลงานที่มีประสิทธิภาพจากพนักงานที่มีศักยภาพและมีสุขภาพที่ดี จะเป็นองค์กรที่มีแต่คำว่าเติบโตไปสู่เป้าหมายได้อย่างดีที่สุด