เมื่อพนักงานถึงวัยเกษียณหลายคนยังคงมีศักยภาพซึ่งบริษัทต้องการต่อสัญญาจ้าง จะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน บทความนี้จะพา HR มาไขคำตอบและแนวทางที่สำคัญ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- พนักงานเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน มีอัตราค่าชดเชยอย่างไร?
- 5 สิ่งที่ HR ควรทำเมื่อมีพนักงานเกษียณอายุ
- Q&A HR ต้องทำอย่างไร? เมื่อพนักงานเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน
- วิธีคิดเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมแจกไฟล์ Excel
- ค่าชดเชยพิเศษหมายความว่าอย่างไร นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ
- Q&A สัญญาจ้างงานบริษัท 1 ปี แต่พนักงานขอลาออกก่อนได้ไหม?
การจ้างงานพนักงานหลังเกษียณ
การจ้างงานพนักงานหลังเกษียณ เป็นแนวทางที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะพนักงานที่มีประสบการณ์และทักษะเฉพาะทาง พนักงานหลังเกษียณมักมีความชำนาญที่สามารถส่งเสริมความก้าวหน้าขององค์กรได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม การจ้างงานผู้สูงอายุต้องคำนึงถึงข้อกำหนดทางกฎหมาย เช่น การจัดสรรเวลาทำงานที่เหมาะสม สวัสดิการที่เพียงพอ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของพนักงานเพื่อให้การทำงานหลังเกษียณเป็นธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กรในระยะยาว
แนวทางการจ้างงานพนักงานหลังเกษียณ
เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างผู้เกษียณอายุพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน นายจ้างสามารถทำสัญญาจ้างใหม่โดยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเป็นรายปีในตำแหน่งและหน้าที่เดิม โดยนายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันในสัญญาจ้างเกี่ยวกับเงื่อนไขการจ้าง การทำงาน ระยะเวลาการจ้าง รวมถึงการระงับของสัญญาจ้างแรงงานได้ตามความเหมาะสมอย่างเสรี ทั้งนี้ความตกลงนั้นต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
กฎเกณฑ์จ่ายค่าชดเชยสำหรับการจ้างงานพนักงานหลังเกษียณ
เมื่อองค์กรจ้างพนักงานหลังเกษียณ การพิจารณากฎเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องคำนึงถึงกฎหมายแรงงาน ดังนี้
1. กรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างหลังเกษียณ
หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับพนักงานเมื่อเกษียณอายุเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีการต่อสัญญาจ้างใหม่ โดยการทำสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาเป็นรายปีในตำแหน่งและหน้าที่เดิม เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วนายจ้างเลิกจ้างพนักงาน นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นใหม่นั้นมีลักษณะงานก่อนและหลังการเกษียณเป็นลักษณะเดียวกันในธุรกิจเดิมของนายจ้าง จึงไม่ใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 4
2. กรณีเลิกจ้างก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างหลังเกษียณ
กรณีนายจ้างจ้างพนักงานหลังการเกษียณอายุ โดยทำสัญญาการจ้างเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ในตำแหน่งและหน้าที่เดิม ซึ่งนายจ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างก่อนครบสัญญา หากพนักงานทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานตามมาตรา 118 วรรค 1
3. กรณีสิ้นสุดสัญญาจ้างที่ได้รับยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย
กรณีนายจ้างจ้างพนักงานหลังการเกษียณอายุ โดยทำสัญญาการจ้างเป็นระยะเวลาหนึ่งปีและจ้างพนักงานทำงานในโครงการที่ไม่ใช่งานปกติของบริษัท กล่าวคือเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี งานลักษณะดังกล่าวเป็นงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรค 4 หากสิ้นสุดสัญญาจ้างนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงาน
Tips! อ่านบทความเกี่ยวกับอัตราค่าชดเชยพนักงานเกษียณอายุได้ที่นี่ >> พนักงานเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน มีอัตราค่าชดเชยอย่างไร? <<
สรุป การจ้างงานพนักงานหลังเกษียณ แนวทางและกฎเกณฑ์ที่ HR ควรรู้
การจ้างงานพนักงานหลังเกษียณช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะพนักงานที่มีประสบการณ์และทักษะเฉพาะทาง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน เช่น การจัดสรรเวลาทำงานที่เหมาะสมและสวัสดิการที่เพียงพอ เพื่อให้การทำงานเป็นธรรมและยั่งยืน โดยเมื่อนายจ้างทำสัญญาจ้างใหม่หลังพนักงานเกษียณอายุแล้ว สามารถจ้างเป็นรายปีในตำแหน่งเดิมได้ หากสัญญาสิ้นสุดนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เว้นแต่งานจะเป็นงานลักษณะพิเศษ เช่น งานครั้งคราวหรือโครงการตามฤดูกาลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118