ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กำหนดไว้ว่าผู้ชายสามารถลาช่วยภรรยาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 15 วันทำการ โดยมีรายละเอียดดังในบทความนี้
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
- Q&A ลาคลอดได้กี่วัน? นับวันอย่างไร? ตามกฎหมายแรงงาน
- 10 สวัสดิการที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด
- วิธีคำนวณสิทธิวันลาพักร้อนที่ HR ควรรู้
- ตรวจสอบโควต้าวันลางานง่ายๆ ด้วยระบบลางานออนไลน์
Q : ผู้ชายลาช่วยภรรยาคลอดบุตร เลี้ยงดูบุตรได้กี่วัน?
ช่วงเวลาสำคัญในการสร้างความผูกพันในครอบครัว คือช่วงเวลาแรกเกิดของลูกนั่นเอง เพราะการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูทารกแรกเกิด สามารถช่วยเสริมสร้างกลไกการพัฒนาของทารกแรกเกิด มีบทบาทต่อการเรียนรู้ Role Model จากคุณพ่อการที่พ่อได้เลี้ยงลูก เล่นกับลูก ทำกิจกรรมกับลูกมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถเป็นกำลังใจที่ดี และแบ่งเบาภาระหลายๆ ด้านให้กับภรรยาได้ ดังนั้นสิทธิสำหรับให้ผู้ชายลาช่วยภรรยาคลอดบุตรจึงถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายดังนี้
A : สิทธิผู้ชายลาคลอดแบ่งตามลักษณะงาน ดังนี้
สิทธิผู้ชายลาคลอดของข้าราชการ
ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 กำหนดไว้ว่า ข้าราชการชาย สามารถลาหยุดราชการ เพื่อไปช่วยภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่คลอดบุตรได้ โดยสามารถลาได้ไม่เกิน 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน จนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ) และเงื่อนไขในการรับเงินเดือนระหว่างการลา ดังนี้
- มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างการลา ไม่เกิน 15 วันทำการ
- ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตร
- หลังจาก 30 วัน นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตร จะไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างการลา
- เว้นแต่ ผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดี หรือเทียบเท่าขึ้นไป เห็นสมควรให้จ่ายเงินเดือนระหว่างการลานั้น แต่ไม่เกิน 15 วันทำการ
สิทธิผู้ชายลาคลอดของพนักงานเอกชน
ยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ลาคลอดได้ โดยกระทรวงแรงงานได้ประกาศขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างชาย สามารถลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรได้ โดยให้นายจ้างใช้ดุลยพินิจพิจารณากำหนดจำนวนวันลาที่เป็นสวัสดิการของลูกจ้างเพื่อไปช่วยเหลือภรรยา นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตรตามความเหมาะสม และบางบริษัทอาจมีนโยบายให้พนักงานชายลาคลอดหรือลาเพื่อดูแลบุตรได้ ขึ้นอยู่กับสวัสดิการพนักงานของบริษัทนั้นๆ เพราะสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องช่วยกันทำงานหาเลี้ยงครอบครัว การแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดจึงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
สรุปสิทธิสำหรับผู้ชายลาช่วยภรรยาคลอดบุตร เลี้ยงดูบุตร
บทบาทในช่วงสองสามเดือนแรกในการคลอด และเลี้ยงดูทารกแรกเกิดนั้นสำคัญมาก เพราะสามารถส่งผลต่อพัฒนาการด้านความคิดของเด็กได้ ซึ่งบทบาทของความเป็นพ่อในการช่วยภรรยาเลี้ยงดูแลพัฒนาลูกไปพร้อมๆ กัน จะทำให้ภรรยามีเวลาให้นมลูกได้อย่างเต็มที่ มีกำลังใจ มีสุขภาพจิตที่ดี และทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ดังนั้นการลาคลอดของผู้ชาย เพื่อไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถานประกอบการควรให้ความสำคัญและให้สิทธิดังกล่าวกับลูกจ้าง เพื่อส่งผลที่ดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเช่นกัน