เรื่องสำคัญที่ลูกจ้างหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ต้องรู้ กับการใช้สิทธิลาไปตรวจครรภ์ ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ไหม? วันนี้เรามีเกร็ดความรู้ดี ๆ มาฝาก ไปดูกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- Q&A ผู้ชายลาช่วยภรรยาคลอดบุตร เลี้ยงดูบุตรได้กี่วัน?
- Q&A ไขข้อข้องใจ หมอนัด ต้องใช้ลาอะไร?
- Q&A ลาแต่งงานต้องใช้ลากิจหรือไม่ ?
- Q&A พนักงานยังไม่ผ่านโปร ลากิจ ลาป่วยได้ไหม?
- ลาป่วย 20 ข้อ ที่พนักงานควรรู้!
Q: ลาตรวจครรภ์ ใช้ลาป่วยได้ไหม?
อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างมากว่า พนักงานที่กำลังตั้งครรภ์ ต้องการใช้สิทธิในการลาเพื่อไปพบแพทย์ พนักงานต้องใช้การลาแบบใด สามารถใช้ลาป่วยได้ไหม? วันนี้เรามีคำตอบให้ ไปดูกันเลย
A: การตั้งครรภ์ ไม่ใช่อาการป่วย ดังนั้น การลาตรวจครรภ์ ไม่สามารถใช้สิทธิการลาป่วยได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง ลาเพื่อคลอดบุตร
มาตรา 41 ใหม่ เป็นการรับรองสิทธิหญิงมีครรภ์ที่มีสถานะเป็นลูกจ้างโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างระหว่างทดลองงาน มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองมารดา ค.ศ. 2000 ที่กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงสามารถลาในระหว่างตั้งครรภ์และเพื่อคลอดบุตรได้ไม่ต่ำกว่า 14 สัปดาห์ (98 วัน)
จำนวนสิทธิลาที่เพิ่มเข้ามานั้นจาก 90 วัน เป็น 98 วัน รวมถึงการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย โดยแบ่งเป็นลาคลอดบุตร 90 วัน และลาเพื่อไปตรวจครรภ์อีก 8 วัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้สิทธิลาคลอดบุตร เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 48 อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> คำชี้แจงกระทรวงแรงงาน เรื่อง ลาเพื่อคลอดบุตร
Q: หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับค่าจ้างอย่างไร?
A: มาตรา 59 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาคลอดบุตรตามมาตรา 41 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน
หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 59 นี้ นายจ้างอาจจำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
สรุป Q&A ลาตรวจครรภ์ ใช้ลาป่วยได้ไหม?
โดยสรุปแล้ว การลาตรวจครรภ์ ไม่สามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ เนื่องจากการตั้งครรภ์ ไม่ใช่อาการป่วยที่มาจากโรค ดังนั้น ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์สามารถใช้สิทธิลาคลอดบุตร เพื่อไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดได้ และลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ต้องไม่เกิน 45 วัน