PageView Facebook
date_range 04/07/2023 visibility 51671 views
bookmark HR Knowledge
ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม - blog image preview
Blog >ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม

ลูกจ้างที่ทำงานอยู่องค์กรต่าง ๆ ล้วนทำงานอยู่ในภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงานทั้งสิ้น วันนี้ HumanSoft ได้คัดเรื่องน่ารู้ของกฎหมายแรงงานที่ไม่ควรมองข้ามมาฝาก


กฎหมายแรงงานคืออะไร

กฎหมายแรงงานหรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือ กฎหมายที่ได้บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในการจ้างงาน โดยกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำการใช้แรงงานและค่าตอบแทนในการทำงาน เพื่อให้การจ้างงานเป็นไปโดยความเหมาะสม ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย สุขภาพอนามัย รวมไปถึงสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่กระทรวงแรงงานระบุไว้เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างตามกฎหมาย


ลูกจ้างสามารถลาได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานได้อย่างไร



การลางานนับว่าเป็นหนึ่งสวัสดิการที่จำเป็นต่อการทำงาน โดยกฎหมายแรงงานได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการลางาน ซึ่ง HumanSoft นำตัวอย่างของสิทธิ์การลาที่ลูกจ้างสามารถลาและได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานได้ดังนี้


1. สิทธิ์การลาป่วยตามกฎหมาย

สิทธิ์การลาป่วยตามกฎหมายแรงงานมาตรา 32 ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้ตามระยะเวลาที่เจ็บป่วยจริง กรณีที่ลูกจ้างลาป่วย 1-2 วัน สามารถลาได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงใบรับรองแพทย์ แต่หากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปลูกจ้างจะต้องทำการแสดงใบรับรองแพทย์ให้กับนายจ้างเพื่อรับทราบ ซึ่งสิทธิ์การลาป่วยลูกจ้างสามารถได้ไม่เกิน 30 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับที่วันทำงาน กรณีที่ลาป่วยเกินโควตา 30 วันต่อปี นายจ้างมีสิทธิ์หักเงินค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างหรือพนักงานลาป่วยได้


2. สิทธิ์การลากิจ

       ในส่วนของเรื่องการลากิจ ลูกจ้างสามารถลากิจเนื่องจากไปปฏิบัติกิจธุระจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วัน และได้รับค่าจ้างเท่ากับวันที่มาทำงานตามปกติ ทั้งนี้วันลากิจในบางองค์กรอาจมากกว่า 3 วัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กรหรือนโยบายบริษัท


3. สิทธิ์การลาพักร้อน

        สำหรับสิทธิ์การลาพักร้อน หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายกำหนดแล้วลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีสามารถลาพักร้อนได้ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี และในช่วงเวลาที่ลูกจ้างหรือพนักงานลาพักร้อนนั้นจะได้รับค่าจ้างเท่ากับวันมาทำงานตามปกติ


Tips! สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >>> ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน


การทำงานในแต่ละวันมีข้อกำหนดตามกฎหมายแรงงานหรือไม่

ตอบได้เลยว่าการทำงานในแต่ละวัน ล้วนมีข้อกำหนดในการทำงานตามกฎหมายแรงงาน จะเป็นอย่างไรมาดูต่อกันได้เลย 



1. การทำงานในวันทำงานปกติ

       การทำงานในวันทำงานปกติแบ่งออกเป็น 2 ประเภทงานด้วยกัน คือ งานทั่วไป และงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


1.1 งานทั่วไป

เวลาทำงานปกติของงานทั่วไป กฎหมายแรงงานกำหนดในการทำงานปกติไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตามที่นายจ้าง ลูกจ้างตกลงกัน


1.2 งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง

เวลาทำงานของงานประเภทที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย กฎหมายแรงงานกำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 42 ชั่วโมง


2. การทำงานในวันหยุด

กรณีที่ทำงานในวันหยุดช่วงเวลาทำงานปกติ นายจ้างจะต้องทำการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง หรือกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุด (รายวัน) จะต้องได้รับเงินค่าจ้างในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ


3. การทำงานล่วงเวลา

      การทำงานล่วงเวลาหรือที่ผู้คนเรียกว่าการทำโอที (Over Time) การทำงานล่วงเวลานั้นอาจจะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นครั้งคราวไป การทำงานล่วงเวลาแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โดยมีรายละเอียดดังนี้ 


3.1 กรณีทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ           

กรณีที่ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกตินายจ้างจะต้องทำการจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง


3.2 กรณีทำงานล่วงเวลาในวันหยุด

      กรณีที่ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือเกินเวลาการทำงานปกติในวันหยุด นายจ้างจะต้องทำการจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้างในอัตรา 3 เท่าของค่าแรงต่อชั่วโมง


การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องตกลงกันก่อน รวมไปถึงชั่วโมงในการทำงานจะต้องรวมกันแล้วไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์


Tips! สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >>> วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน


วันหยุดตามกฎหมายแรงงาน

มาต่อกันที่วันหยุดตามกฎหมายแรงงาน เป็นสิ่งที่ลูกจ้างอย่างเรา ๆ ต้องการกันมากที่สุด เนื่องจากลูกจ้างก็เป็นเพียงมนุษย์ท่านหนึ่ง ต้องการเวลาพักผ่อนเพื่อสร้างความสุขและความสมดุลในชีวิตให้กับตนเอง ซึ่งวันหยุดตามกฎหมายสามารถแบ่งได้ดังนี้


1. วันหยุดประจำสัปดาห์

       วันหยุดประจำสัปดาห์ตามกฎหมายแรงงานแล้ว ใน 1 สัปดาห์จะต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน โดยวันหยุดจะต้องมีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน


2. วันหยุดตามประเพณี

    วันหยุดตามประเพณีตามกฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วัน กรณีวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ จะต้องทำการชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป


3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี

ในส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือที่เรารู้จักกันในนามของลาพักร้อน ลูกจ้างจะได้รับเมื่อทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำไปได้ปีละไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน ในส่วนของวันหยุดประจำปี นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อ ๆ ไปได้



การลาออกตามกฎหมายกำหนด ต้องแจ้งล่วงหน้าหรือไม่

กรณีที่ลูกจ้างต้องการจะต้องทำการแจ้งล่วงหน้าตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ หากสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด สามารถลาออกโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า เช่น สัญญาจ้าง 1 ปี หากครบสัญญาจ้างแล้วออกได้เลย

กรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ลูกจ้างแจ้งลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแจ้งเป็นหนังสือลาออกให้นายจ้างทราบเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้าเกิน 3 เดือน

ลูกจ้างที่ลาออกจากงานและเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมที่ว่างงาน สามารถลงทะเบียนว่างงาน เพื่อรับเงินขอรับเงินชดเชยได้


ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือโดนไล่ออกจะได้รับเงินชดเชยหรือไม่

กรณีที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างหรือไล่ออก หากลูกจ้างไม่มีความผิดมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง ซึ่งจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย240 วัน
  • ลูกจ้างทำงานติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

หากเป็นกรณีที่ลูกจ้างลาออกเอง จะไม่มีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้าง ถึงแม้ว่าลูกจ้างจะทำงานติดต่อกันหลายปีหรือมีอายุงานหลายปีก็ตาม


สรุปเรื่องน่ารู้ของกฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม

เรื่องของกฎหมายแรงงานนับได้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับลูกจ้างที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการทำงานของตนเองและเพื่อป้องกันการโดนละเมิดสิทธิต่าง ๆ ในการทำงาน

นอกจากกฎหมายแรงงานที่ HumanSoft ได้นำมาฝากแล้วนั้น ยังมีกฎหมายแรงงานน่ารู้อีกมากหากสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงาน หรือสามารถติดตามบทความดี ๆ จาก HumanSoft ได้นะคะ

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้