บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของวันแรงงานทั้งในประเทศไทยและสากลทั่วโลก ในการให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันหยุดตามประเพณีในทุกๆ ปี
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
- กฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก ที่นายจ้างต้องปฏิบัติตาม
- พนักงานบริษัทติดทหารลารับราชการทหารได้กี่วัน?ตามกฎหมายแรงงาน
- นายจ้างควรรู้! การใช้แรงงานหญิงตามกฎหมาย มีข้อห้ามอะไรบ้าง
- แนวทางรับมือปัญหาขาดแคลนแรงงาน สำหรับผู้ประกอบการ
- เคาะ! ค่าแรงขั้นต่ำ ต้อนรับปี 2567
วันแรงงาน คือวันอะไร?
วันแรงงาน (Labour Day) คือ วันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชนระลึกถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ในการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งเป็นการยกย่องและมุ่งเน้นให้แรงงานได้เกิดการพัฒนาในชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานควรได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นวันสำคัญสากลที่กำหนดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี แต่ก็มีบางประเทศที่กำหนดเป็นวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ความเป็นมาของวันแรงงานสากล
ในประเทศแถบยุโรป จะมีวันเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ทางเกษตรกรรม คือวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ที่มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองเพื่อขอให้การปลูกพืชต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ขอให้ประชนอยู่ดีกินดี โดยบรรยากาศงานเฉลิมฉลองนั้น มักจะมีการให้ดอกไม้ ร้องเพลง เต้นรำรอบๆ เสาเมย์โพล (เสาที่ประดับด้วยช่อดอกไม้และริบบิ้นต่างๆ อย่างสวยงาม) ซึ่งวันเฉลิมฉลองดังกล่าวนี้คือวันที่เรียกว่า วันเมย์เดย์ (May Day) หรือจุดเริ่มต้นของวันแรงงานสากลนั่นเอง
หลังจากที่ หลายๆ ประเทศเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ได้มีการเปลี่ยนวันแรงงานสากล ให้เป็นวันหยุดตามประเพณี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ และต่อมาในปีพ.ศ.2433 หลายประเทศในแถบตะวันตกได้มีการเรียกร้องให้กำหนดวันแรงงานสากล เป็นวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจุดนี้เองทำให้วันหยุดเฉลิมฉลองกลายเป็นวันแรงงานสากล ที่เป็นวันหยุดตามประเพณีขึ้นอย่างเป็นทางการ และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของวันแรงงานไทย
ปี พ.ศ.2475
วันแรงงานของไทย ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครองแรงงานและดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างให้ดีขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย และได้ชื่อว่า “วันกรรมกรแห่งชาติ” และต่อมาในภายหลังได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”
ปี พ.ศ.2500
ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ ที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ และต่อจากนั้น กระทรวงมหาดไทยก็ได้ออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน รวมถึงกำหนดให้วันแรงงานแห่งชาติเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่บางทีก็มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย
ปี พ.ศ.2517
ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยให้กรมแรงงานเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานขึ้นที่สวนลุมพินี ซึ่งภายในงานมีทั้งกิจกรรมทำบุญตักบาตร นิทรรศการแสดงความรู้ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
สรุปประวัติความเป็นมาของวันแรงงานไทย-สากล
ในหนึ่งปีปฏิทินนั้น จะมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดตามประเพณีมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นวันสำคัญในโอกาสที่แตกต่างกันไป แต่หนึ่งในนั้นที่ถือว่ามีความสำคัญโดยตรงกับมนุษย์เงินเดือนอย่างแท้จริง ก็คือ “วันแรงงานแห่งชาติ” นี้เอง โดยเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมให้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมกับได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและได้รับค่าแรงอย่างเป็นธรรม และเมื่อแรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานก็ย่อมที่จะตามมาด้วยเช่นกัน รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานก็จะลดลง ส่งผลดีให้กับทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ