ไขข้อสงสัยแก่ชาวมนุษย์เงินเดือนและ HR เรื่องของการลาออก ตามกฎหมายแรงงานแล้วต้องได้รับอนุมัติจาก HR ก่อนหรือไม่? HR ไม่อนุมัติได้ไหม มาหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- Q&A สัญญาจ้างงานบริษัท 1 ปี แต่พนักงานขอลาออกก่อนได้ไหม?
- ไขข้อสงสัย ประวัติพนักงานลาออก HR ต้องจัดเก็บกี่ปี
- เมื่อลูกจ้าง"ลาออก" โดยไม่แจ้งล่วงหน้า จะเป็นอะไรไหม?
- สาเหตุการลาออกของพนักงานที่หัวหน้าทีมและ HR ต้องทำความเข้าใจ
Q: พนักงานลาออก ตามกฎหมายแล้วต้องได้รับอนุมัติจาก HR ก่อนหรือไม่?
การลาออกของพนักงานถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกองค์กรทั่วโลกต้องพบเจอ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พนักงานสามารถทำได้ แต่เรื่องของการลาออกนั้นก็มีข้อสงสัยต่าง ๆ มากมาย เช่น กรณีที่พนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออก ตามกฎหมายแรงงานแล้วต้องได้รับการอนุมัติจาก HR ก่อนหรือไม่ อย่างไร?
A: การลาออกไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจาก HR
การลาออก คือ การบอกเลิกสัญญาจ้างของฝ่ายพนักงานผู้เป็นลูกจ้างต่อนายจ้าง เมื่อพนักงานแสดงการลาออกต่อนายจ้างหรือ HR (ผู้แทนนายจ้าง) เพื่อให้นายจ้างรับทราบถึงการลาออก ก็ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นการลาออกที่พนักงานบอกกล่าวด้วยวาจา หรือแสดงใบลาออก (ฎีกาที่ 10161/2551) หรือแม้กระทั่งการส่งข้อความแจ้งการลาออกผ่านไลน์ก็ล้วนมีผลทั้งสิ้น
ดังนั้น กรณีที่พนักงานลาออก “ไม่จำเป็น” ที่จะต้องได้รับการอนุมัติจาก HR หรือนายจ้าง เนื่องจากพนักงานแสดงเจตนาการบอกเลิกสัญญาเป็นการบอกเลิกฝ่ายเดียว ถือเป็นการสิ้นสุดสัญญานั่นเอง
Q: พนักงานลาออก ตามกฎหมายแรงงาน HR ไม่อนุมัติได้หรือไม่?
กรณีที่พนักงานภายในองค์กรต้องการลาออก ตามกฎหมายแรงงานแล้ว HR ไม่อนุมัติใบลาออกนั้นได้หรือไม่?
A: HR ไม่อนุมัติไม่ได้
กรณีที่พนักงานมีการยื่นใบลาออกต่อ HR หรือนายจ้างเรียบร้อยแล้ว แต่นายจ้างหรือ HR ไม่อนุมัติการลาออกของพนักงานท่านนั้น ถือว่าไม่สามารถทำได้
สรุปพนักงานลาออก ตามกฎหมายแรงงานต้องได้รับอนุมัติจาก HR ไหม?
โดยสรุปคือ ตามกฎหมายแรงงาน เมื่อพนักงานลาออกไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจาก HR พนักงานสามารถลาออกได้เลยตามวันที่ระบุในใบลาออก และกรณีที่พนักงานมีการยื่นใบลาออกเข้ามาแต่ HR ไม่อนุมัติถือว่าไม่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้นายจ้างเกิดความเสีย พนักงานควรแจ้งลาออกล่วงหน้าและส่งมอบงานให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งต่อนายจ้างและเรื่องของภาระงาน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการฟ้องร้องในภายหลังนะคะ