สิ่งสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ คือ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อที่จะปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ :
- ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม
- HR ควรรู้! กฎระเบียบบริษัท ข้อบังคับการทำงาน ตามกฎหมายแรงงาน
- Q&A เลิกจ้างพนักงาน ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไร? ตามกฎหมายแรงงาน
- กฎหมายแรงงานฉบับล่าสุด 2566 HR ต้องรู้อะไรบ้าง
- ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน
- วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
- Download แบบฟอร์มสัญญาจ้างงาน แจกฟรี! ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ไว้
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือผู้ประกอบการหน้าใหม่นั้น เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน และนอกจากเรื่องการบริหารธุรกิจแล้ว สิ่งที่เหล่าผู้ประกอบการมือใหม่ควรรู้ คือ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะการรู้จักกฎหมายแรงงานหรือ พรบ.คุ้มครองแรงงาน จะช่วยให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับการทำงานที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดความพึงพอใจและความเชื่อมั่นจากพนักงานต่อองค์กรด้วย โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้ไว้ มีดังนี้
1. การทำสัญญาจ้างงาน
เพราะสัญญาจ้างงาน คือการตกลงว่างจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อกำหนดความรับผิดชอบและสิทธิของทั้งสองฝ่าย แม้เป็นการตกลงทางวาจา หากลูกจ้างลงมือทำงานแล้ว ก็ถือเป็นสัญญาจ้างงานสมบูรณ์ทันที แต่เพื่อป้องกันความยุ่งยากในภายหลัง นายจ้างควรทำสัญญาจ้างเป็นเอกสารที่ระบุถึงรายละเอียดการทำงาน กฏระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ในขณะปฏิบัติงานให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มิเช่นนั้นจะถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ โดยสัญญาจ้างงาน จะมีผลตลอดอายุการทำงานของลูกจ้าง ยกเว้นกรณีที่เป็นสัญญาจ้างชั่วคราวที่ระบุระยะเวลาทำงานที่แน่นอน จะมีผลสิ้นสุดตามระยะเวลาที่ระบุไว้
2. การกำหนดเวลาทำงานและเวลาพัก
กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า
- งานทั่วไประยะเวลาการทำงานไม่เกิน 8 ชม./วัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์
- งานอัตราย ระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 7 ชม./วัน และ 42 ชม./สัปดาห์ เช่น งานใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ ในที่อับอากาศ งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี งานเชื่อมโลหะ งานขนส่งวัตถุอันตราย งานผลิตสารเคมี งานที่ต้องทำด้วยเครื่องมือ เครื่องจักรที่ได้รับความสั่นสะเทือนอาจเป็นอันตราย งานที่เกี่ยวกับความร้อนจัด เย็นจัด
- ลูกจ้างต้องมีเวลาพัก 1 ชม. ระหว่างการทำงานปกติ หบังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกัน
3. การกำหนดวันหยุด
- ใน 1 สัปดาห์ต้องมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน โดยวันหยุดต้องห่างกันไม่เกิน 6 วัน
- ใน 1 ปีลูกจ้างมีสิทธิหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปีมีสิทธิลาพักร้อนได้อย่างน้อย 6 วัน
4. การทำงานล่วงเวลา หรือ โอที
- ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์
- กรณีทำโอต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ลูกจ้างต้เองมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 20 นาที ก่อนเริ่มทำโอที
- ค่าโอทีในวันทำงานปกติ นายจ้างต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง
- ค่าจ้างในวันหยุด หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ 0-8 ชั่วโมงแรก (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชม.) นายจ้างต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง
- ค่าโอทีในวันหยุด หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชม.) นายจ้างต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง
Tips! อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคิดโอได้ที่ >> วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
5. การกำหนดโควต้าการลา
- ให้ลูกจ้างลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ หากติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างมีสิทธิขอดูใบรับรองแพทย์ได้
- ให้ลูกจ้างลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ นับรวมวันหยุด และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างปกติเป็นเวลา 45 วัน และอีก 45 วันลูกจ้างได้รับจากประกันสังคม
- ให้ลูกจ้าง ลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถได้ โดยจ่ายค่าจ้างตามที่เงื่อนไขของบริษัทกำหนด
- ให้ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกินปีละ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
- ให้ลูกจ้างทำหมันและหยุดทำงานได้ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
- ให้ลูกจ้างสามารถลากิจ เพื่อกิจธุระอันจำเป็น โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
Tips! อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลาป่วยได้ที่ >> ลาป่วยกี่วันต้องมีใบรับรองแพทย์
6. การจ่ายเงินทดแทน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานระบุถึงกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง นายจ้างจำเป็นต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างตามนี้
- กรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาท และถ้าในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้ป่วยใน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาลและค่าบริการทั่วไป ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินวันละ 1,300 บาท
- กรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนจำนวน 60% ของค่าจ้างรายเดือน ในกรณีไม่สามารถทำงานได้เกิน 3 วัน และค่าทดแทน 60% ของค่าจ้างรายเดือน กรณีทุพพลภาพเป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี และหากจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถฟภาพ จะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย
- กรณีตายหรือสูญหายจากการทำงาน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ สิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับ คือ ค่าทำศพ จำนวน 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ค่าทดแทนของค่าจ้างรายเดือนในอัตรา 60% ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 8 ปี (จ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด)
สรุปกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผู้ประกอบการมือใหม่ต้องรู้ไว้
จากกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่กล่าวมา ถือได้ว่าเป็นกฎหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการมือใหม่จะละเลยไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิเบื้องต้นที่รัฐกำหนดไว้ให้ลูกจ้าง เพื่อการทำงานอย่างมีความสุข และสบายใจกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก แรงงานสตรี เงินชดเชยเลิกจ้าง กฎระเบียบบริษัท ข้อบังคับการทำงาน การร้องทุกข์ รวมไปถึงบทลงโทษหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การคุ้มครองแรงงานจากกระทรวงแรงงาน