ในฐานะของผู้เสียภาษี สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้จักและทำความเข้าใจกับประเภทของ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม วันนี้ HumanSoft มีเกร็ดความรู้ดี ๆ มาฝาก ไปดูกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- เตือน!! ค่าปรับภาษี กรณียื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่าช้า
- กำหนดการยื่นแบบและชำระภาษีป้าย ประจำปี 2567
- บทลงโทษหากไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 ตามกำหนด
- ปฏิทินภาษี 2567 ครึ่งปีหลัง ภาษีอะไรต้องยื่นแบบวันไหนบ้าง
รู้จักกับ “ภาษีทางตรง” และ “ภาษีทางอ้อม”
ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่าง ๆ จากบุคคลและนิติบุคคล โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้ โดยผู้เสียภาษีจะทราบจำนวนภาษีที่ตนเองต้องชำระอย่างชัดเจน
ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากผู้บริโภคเป็นภาษีที่เป็นการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้บริโภค เป็นผู้รับชำระภาษีอากรแทนผู้ขาย
ประเภทของ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม
หลาย ๆ คน ยังคงสงสัยอยู่ว่าประเภทของ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม นั้น เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจใดบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ มาฝากทุกท่าน ไปดูกันเลย
ประเภทของภาษีทางตรง
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลที่มีรายได้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เป็นต้น อัตราการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคำนวณจากรายได้สุทธิของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่างปีภาษี โดยปกติจะจัดเก็บเป็นรายปี ผู้เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้แก่ ยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย เงินได้ประเภทกำไรสุทธิ เป็นต้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณเป็นแบบขั้นบันไดเช่นเดียวกับภาษีบุคคลธรรมดา โดยมีอัตราภาษีนิติบุคคลสูงสุดอยู่ที่ 20%
3. ภาษีป้าย
ภาษีป้าย เป็นภาษีที่จัดเก็บจากป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ เครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือป้ายที่ประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อแสวงหารายได้ โฆษณาการค้าด้วยเครื่องหมาย ภาพ และตัวอักษร เป็นต้น
4. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการครอบครอง เป็นภาษีที่จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้ทันสมัย โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน ในวันที่ 1 มกราคมของแต่ละปี
5. ภาษีมรดก
เป็นภาษีที่เก็บจากผู้รับมรดกหรือทายาท เมื่อได้รับการโอนทรัพย์สิน
6. ภาษีทรัพย์สินต่าง ๆ
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ครอบครองทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเสียภาษี เช่น ภาษีรถยนต์
ประเภทของภาษีทางอ้อม
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือบริการ และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยอัตราที่ผู้ประกอบการจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยคือ 7%
2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ ซึ่งแยกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีดังนี้
- กิจการธนาคาร
- การขายหลักทรัพย์
- ธุรกิจหลักทรัพย์
- ธุรกิจประกันชีวิต
- กิจการรับจำนำ
- การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น ค้ำประกัน ปล่อยกู้ แลกเปลี่ยนสกุลเงิน เป็นต้น
3. อากรแสตมป์
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการกระทำตราสาร ใน 28 ลักษณะตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยมีการจัดพิมพ์อากาแสตมป์ในลักษณะเดียวกันกับตราไปรษณียากร แต่ต่างกันตรงที่อากรแสตมป์ไม่มีตราประทับ
สรุป ประเภทของ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม มีอะไรบ้าง?
โดยสรุปแล้ว ในฐานะผู้เสียภาษี การทำความเข้าใจกับประเภทของ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หากเราเข้าใจอย่างชัดเจน เราก็จะสามารถนำส่งภาษีได้ถูกต้องและครบถ้วน และรัฐบาลก็จะสามารถนำภาษีเหล่านี้ไปพัฒนาและต่อยอดความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศของเราได้