หลายคนอาจยังสงสัยกันอยู่ว่า ตามกฎหมายแรงงานแล้ว พนักงานรายวันจะได้รับค่าแรงในวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือไม่ โดยมาหาคำตอบได้ในบทความนี้
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
- Q&A ทำงานและทำโอทีในวันแรงงาน ต้องได้รับค่าแรงกี่เท่า?
- HR ควรรู้! ตามกฎหมายแรงงาน ห้ามบังคับลูกจ้างทำโอที
- ข้อควรรู้ ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย
- กฎหมายแรงงานฉบับล่าสุด 2566 HR ต้องรู้อะไรบ้าง
Q : ตามกฎหมายแรงงาน พนักงานรายวันได้ค่าแรงวันหยุดนักขัตฤกษ์ไหม?
A : คำตอบคือ
ตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างรายวัน มีสิทธิได้รับค่าแรงในวันหยุดตามประเพณี (วันหยุดนักขัตฤกษ์) และวันหยุดพักผ่อนประจำปี เช่นเดียวกับลูกจ้างรายเดือน
ว่าด้วยเรื่องวันหยุดตามกฎหมายแรงงาน
ตามกฎหมายแรงงานนั้น ได้แบ่งวันหยุดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
วันหยุดประจำสัปดาห์
ทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวัน มีสิทธิได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างจะต้องจัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้กับลูกจ้างอย่างน้อย 1 วัน โดยต้องห่างกันไม่เกิน 6 วัน (เว้นแต่งานบางประเภทที่ลูกจ้างจำต้องทำติดกันมิฉะนั้นจะเสียหายแก่นายจ้างได้ เช่น งานโรงแรม งานขนส่ง งานเหล่านี้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเลื่อนไปหยุดวันใดแทนก็ได้)
วันหยุดตามประเพณี (วันหยุดนักขัตฤกษ์)
ทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวัน มีสิทธิได้รับวันหยุดตามประเพณี นายจ้างต้องประกาศให้ใน 1 ปี มีวันหยุดตามประเพณี (วันหยุดนักขัตฤกษ์) ไม่น้อยกว่า 13 วัน
วันหยุดพักผ่อนประจำปี (พักร้อน)
ทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวัน มีสิทธิได้รับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วัน เมื่อลูกจ้างได้ทำงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
การจ่ายค่าแรงและค่าล่วงเวลาของลูกจ้างรายวัน
ลูกจ้างรายวันจะมีความแตกต่างกับลูกจ้างรายเดือน คือ ค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์เท่านั้นที่นายจ้างได้รับข้อยกเว้น ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้ลูกจ้างรายวัน แต่หากให้ลูกจ้างรายวันมาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลาให้ในอัตราไม่น้อยกว่าสองเท่าของค่าจ้างปกติที่ลูกจ้างได้รับ และในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างรายวัน เช่นเดียวกับลูกจ้างรายเดือน
สรุปค่าแรงวันหยุดนักขัตฤกษ์ของลูกจ้างรายวัน
ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายแรงงานของไทยเราไม่ได้แยกสิทธิของลูกจ้างรายเดือนกับลูกจ้างรายวันออกจากกันแต่อย่างใด ต่างกันเพียงแค่วิธีการคำนวณค่าแรงในแต่ละประเภทเท่านั้น ซึ่งทั้งเจ้าของกิจการและ HR ควรหาความรู้ในเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อความถูกต้องในการคำนวณค่าแรงต่างๆ ให้เหมาะสมตามที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้