การจ้างงานคนพิการเป็นกระบวนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับคนพิการ แต่การจ้างงานคนพิการนั้นจะมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอะไรบ้าง มาหาคำตอบกันในบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- รวมสิ่งที่ HR ควรรู้ก่อนการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย
- รู้ยัง? นายจ้างยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวได้แล้ว
- เงินที่ถือว่าเป็นค่าจ้าง ตามกฎหมายแรงงาน มีอะไรบ้าง?
- ห้ามพลาด! กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างไม่ควรมองข้าม
การจ้างงานคนพิการ
การจ้างงานคนพิการมีข้อดีหลายประการสำหรับทั้งคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และ HR สำหรับคนพิการ การจ้างงานช่วยให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงชีพและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ การจ้างงานยังช่วยให้คนพิการสามารถพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเองได้อีกด้วย สำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ การจ้างงานคนพิการสามารถช่วยให้ธุรกิจมีความหลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น
หลักเกณฑ์การจ้างงานคนพิการสำหรับนายจ้าง
หลักเกณฑ์ในการจ้างงานคนพิการสำหรับ HR นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีรายละเอียดดังนี้
การจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มาตรา 33
- กฎกระทรวงแรงงานกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน
- ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด
- สัดส่วนในการรับคนพิการเข้าทำงานคือ ลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน เศษของ 100 ถ้าเกิน 50 คน ต้องทำการรับลูกจ้างคนพิการเพิ่มขึ้นอีก 1 คน เช่น มีลูกจ้าง 151 คน ก็ต้องจ้างคนพิการ 2 คน (100:1, 151:2)
- การนับจำนวนลูกจ้างให้นับทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี
- กรณีที่นายจ้างที่มีหน่วยงาน หรือสำนักงานสาขาในจังหวัดเดียวกัน ให้นับรวมลูกจ้างของหน่วยงานหรือสำนักงานทุกแห่งในจังหวัดนั้นเข้าด้วยกัน
ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (มาตรา 34)
นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการคนใดที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กำหนด ให้ทำการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ คูณด้วย 365 และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน ภายใน 31 มีนาคม
ทั้งนี้ กรณีที่นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการล่าช้า หรือส่งไม่ครบ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องเสียดอกเบี้ย 7.5% ของเงินที่ค้างส่งต่อปี
การส่งเสริมอาชีพโดยการจัดให้มีสัมปทาน (มาตรา 35)
ในกรณีที่เจ้าของสถานประกอบไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานและไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 อาจจัดให้มีการส่งเสริมอาชีพในรูปแบบอื่น ๆ โดยสิทธิตามมาตรา 35 แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่
- การให้สัมปทาน
- การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ
- การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ
- การฝึกงาน
- จัดให้มีอุปกรณ์/สิ่งอำนวยความสะดวก
- การจัดให้มีบริการล่ามภาษามือ
- การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ
สรุปหลักเกณฑ์การจ้างงานคนพิการตามกฎหมายกำหนด
การจ้างงานคนพิการเป็นนโยบายที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป