แชร์เทคนิค การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว อีกหนึ่งรูปแบบวัฒนธรรมที่องค์กรนิยมใช้กัน วันนี้เรามี 6 วิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว ที่องค์กทำตามได้มาฝาก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- 7 วิธีสร้างความผูกพันในองค์กร สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เข้มแข็ง
- 6 วิธี สร้างความสุขในการทำงาน
- 4 วิธีสร้างบรรยากาศดีๆ ในองค์กร โดยการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HRM)
- Checklistวัฒนธรรมองค์กรแบบไหนที่ดึงดูดใจคนเก่ง พร้อมตัวอย่าง
รู้จักกับ “วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว”
วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว เป็นวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้นไปที่พนักงานให้รักและสามัคคีกัน ร่วมมือกันในลักษณะ “การทำงานเป็นทีม” มุ่งเน้นให้พนักงานได้รู้จัก พูดคุย และสนับสนุนซึ่งกันและกัน องค์กรจะมีแบบแผนค่านิยมของครอบครัวที่พนักงานทุกคนเคารพและเชื่อฟัง วัฒนธรรมรูปแบบนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสื่อสาร หรือใช้หลักการทำงานแบบ CFR เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของคนในองค์กร พนักงานทุกคนมีส่วนตัดสินใจในการทำงาน รวมไปถึงช่วยกันแก้ปัญหาในรูปแบบการมีส่วนร่วมอีกด้วย
ลักษณะการทำงาน จะไม่เป็นทางการมากนัก เน้นความยืดหยุ่นที่สูงพอสมควร พนักงานสามารถเข้าถึงผู้บริหาร, หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานได้ง่าย การทำงานแบบครอบครัวจะทำให้พนักงานเปิดใจคุยกันมากขึ้น หากเกิดปัญหาใด พนักงานสามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานได้แบบไม่ต้องเขินอาย สิ่งนี้จะช่วยสร้างความผูกพันในองค์กรได้เป็นอย่างดี
6 วิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว
วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สามารถมัดใจให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกับองค์กรได้ในระยะยาว นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กรแล้ว ยังสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับองค์กรได้อีกด้วย วันนี้เรามีเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับวิธีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว มาฝาก จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
1. สื่อสารค่านิยมองค์กร
ค่านิยมองค์กร หรือ Core Value คือ กรอบความคิดหลักที่แสดงถึงความเชื่อขององค์กร มุ่งเน้นถึงเป้าหมายหลักที่องค์กรต้องการ องค์กรควรสื่อสารเรื่องค่านิยมองค์กรให้พนักงานทราบ และเข้าใจตรงกัน จะได้สร้างเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดพฤติกรรมของพนักงานภายในองค์กร ถือเป็นการเน้นย้ำให้พนักงานทำงานร่วมกันแบบทีม สามัคคี และมองเป้าหมายขององค์กรไปในทิศทางเดียวกัน
2. ให้ความสำคัญกับพนักงาน
การทำงานภายในองค์กร แน่นอนว่า สิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือ “พนักงาน” องค์กรควรดูแล เอาใจใส่พนักงานทุกคนเหมือนบุคคลในครอบครัว หากพบว่าพนักงานมีปัญหาในด้านใด องค์กรควรยื่นมือเข้าไปช่วยโดยการถามไถ่ พูดคุยถึงปัญหาที่พนักงานพบเจอ ปัญหาที่พนักงานเผชิญอาจไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากปัญหาสุขภาพ, ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาอื่น ๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น หากองค์กรให้ความสำคัญกับพนักงาน พนักงานก็จะรู้สึกถึงการมีคุณค่า และพร้อมที่จะทำงานให้กับองค์กรในระยะยาวอย่างแน่นอน
3. พัฒนาการสื่อสารอยู่เสมอ
แน่นอนว่าการทำงานเป็นทีม สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “การสื่อสาร” เพราะการสื่อสารถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้พนักงานทุกคนเข้าใจในสิ่งนั้น ๆ ตรงกัน หากองค์กรใดขาดการสื่อสารที่ดี การทำงานก็จะไม่เป็นไปตามแผน งานล่าช้า หรืออาจจะเกิดข้อผิดพลาดในเนื้องานเลยก็ว่าได้ ดังนั้น องค์กรควรใช้หลักการทำงานแบบ CFR ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมขององค์กรได้เลย การสื่อสารกันของพนักงานภายในองค์กร จะช่วยให้หัวหน้างาน และพนักงาน สามารถสื่อสารกันได้อย่างอิสระ ช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และลดช่องว่างระหว่างการทำงานให้กับทุกคนได้อีกด้วย
4. สนับสนุนการทำงานเป็นทีม
การทำงานเป็นทีมเรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการทำงานภายในองค์กร เนื่องจากการทำงานต้องมาระดมความคิด และร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานในด้านนั้น ๆ เพื่อที่จะได้ช่วยกันกลั่นกรอง และตกผลึกทางความคิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของผลงานที่ออกมาดีที่สุด องค์กรควรส่งเสริมให้พนักงานทำงานกันเป็นทีมบ่อย ๆ เพื่อให้พนักงานได้ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ เพราะมนุษย์เราทุกคนย่อมมีความคิดที่แตกต่างกัน รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพนักงานแต่ละคน เมื่อนำมารวมกันก็สามารถสร้างเป็นชุดความคิดหรือผลงานชิ้นโบว์แดงเลยก็ว่าได้ อีกทั้งการทำงานเป็นทีม ยังส่งเสริมให้พนักงานรู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความเห็นต่างทางความคิดของกันและกันได้อีกด้วย
5. สนับสนุนให้พนักงานเติบโต
อีกหนึ่งสิ่งที่จะสามารถมัดใจพนักงานได้ คือส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของพนักงานอยู่เสมอ องค์กรควรให้ความสำคัญโดยการ จัดฝึกอบรม, การ Coaching / Mentoring, การสัมมนา หรือไปดูงานนอกสถานที่ เป็นต้น หากพนักงานมีความรู้หลากหลายด้าน ก็จะส่งผลดีกับองค์กรในระยะยาว เพราะพนักงานคือฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า การสนับสนุนให้พนักงานเติบโตในสายงานที่พวกเขาถนัดและชื่นชอบ ก็ถือเป็นการมอบโอกาสให้กับพวกเขาในการนำทักษะเหล่านั้นมาปรับใช้กับการทำงานได้อีกด้วย
6. จัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์
และสุดท้าย นอกจากองค์กรจะดูแลพนักงานในด้านการทำงานแล้ว องค์กรก็ควรที่จะหาเวลาพักผ่อนให้กับพนักงานบ้างในบางครั้งคราว เพื่อเป็นการลดภาวะความเครียดจากการทำงานให้กับพนักงาน ในบางองค์กรอาจจะต้องทำงานหนักมาตลอดทั้งปี หากมีการจัดกิจกรรม Outing นอกสถานที่ หรือจะจัดเป็นกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปีบ้างก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เชื่อได้เลยว่ากิจกรรมเหล่าถือเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่จะช่วยสร้างความประทับใจให้กับพนักงานได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนภายในองค์กรได้อีกด้วย
สรุป 6 วิธีง่ายๆ สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว ที่องค์กรทำตามได้
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ 6 วิธี สร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวที่เรานำมาฝากในวันนี้ แน่นอนว่าหลาย ๆ องค์กร ก็คงจะใช้วัฒนธรรมรูปแบบนี้ภายในองค์กรกันอยู่แล้ว เพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัว มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ขององค์กรกับพนักงานเป็นส่วนใหญ่ การทำงานก็จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่เป็นทางการมากนัก ส่งผลให้พนักงานสามารถเข้าถึงหัวหน้างาน และพูดคุยถึงปัญหาที่พบได้ง่ายมากขึ้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวนี้ จะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานให้น่าอยู่และสามารถสร้างความประทับใจให้กับพนักงานได้อย่างแน่นอน