แก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ ถือเป็นความผิดเสี่ยงโดนข้อหา 'ปลอมเอกสาร' มีโทษทั้งปรับ ติดคุก แถมถูกไล่ออกโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย!
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- ลาป่วยกี่วัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ นายจ้างหักเงินได้ไหม?
- Q&A พนักงานลาป่วยบ่อย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่?
- Q&A ไขข้อข้องใจ หมอนัด ต้องใช้ลาอะไร?
- ลาป่วย 20 ข้อ ที่พนักงานควรรู้!
- ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน
ใบรับรองแพทย์คืออะไร
แพทย์สภาได้ให้ความหมายของใบรับรองแพทย์ไว้ว่า “เป็นเอกสารประเภทหนึ่งโดยทั่วไปจะเขียนในกระดาษที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะ อาจมีคำว่าใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองแพทย์ หรือข้อความอื่นที่แสดงว่าเป็นเอกสารที่ออกจากแพทย์ผู้หนึ่งผู้ใด (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525)”
โดยทั่วไปแล้ว ใบรับรองแพทย์นั้นมักถูกนำมาใช้ในหลายกรณี เช่น ใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการลาป่วย เบิกค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
พนักงานปลอมใบรับรองแพทย์
พนักงานคนหนึ่งได้รับใบรับรองแพทย์จากการไปพบแพทย์จริง แต่เขาเห็นว่าระยะเวลาการพักฟื้นในใบรับรองแพทย์นั้นน้อยเกินไป จึงได้แก้ไขข้อมูลในใบรับรองแพทย์ด้วยตนเอง โดยเพิ่มจำนวนวันพักฟื้นเพิ่มขึ้น แล้วนำใบรับรองแพทย์ที่แก้ไขแล้วมายื่นต่อ HR ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ฐานปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม
แก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ผิดอย่างไร มีบทลงโทษอะไรบ้าง
การแก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้เอกสารเท็จเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้การแก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ ยังมีความผิดที่ต่างกันออกไปตามลักษณะการนำไปใช้ดังต่อไปนี้
1. แก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ตรวจจริง
การแก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ขึ้นมา โดยที่ไม่ได้ไปตรวจจริง และทำให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง (ออกโดยผู้ที่ไม่ใช่แพทย์) ถือว่ามีความผิดฐาน "ปลอมเอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. นำใบรับรองแพทย์ปลอมยื่นต่อนายจ้าง
การใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมยื่นต่อนายจ้าง ถือเป็นการทุจริตหรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 (1)
3. ใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมในหน่วยงานราชการ
การใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมในหน่วยงานราชการ มีความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่ใช้ในหน่วยงานนั้น รวมถึงอาจถูกลงโทษทางวินัย
4. แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ตรวจจริง
แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ตรวจจริง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปปลอมใบรับรองแพทย์ เสี่ยงคุก โดนไล่ออก ไร้ค่าชดเชย
การแก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้เอกสารเท็จเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น การลาป่วยเกินความเป็นจริง ผลที่ตามมาคือพนักงานอาจถูกเลิกจ้างทันทีโดยไม่ต้องได้รับค่าชดเชย และยังเสี่ยงถูกฟ้องร้องฐานปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งมีโทษจำคุกตามกฎหมาย อีกทั้งทำให้เสียความน่าเชื่อถือในอาชีพและกระทบต่ออนาคตการทำงานอีกด้วย
ที่มา: ธรรมนิติ