หลายคนสงสัย เมื่อลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าจะมีโทษอะไรไหม หาคำตอบด้วยกันในบทความนี้
เรื่องเกี่ยวกับการลาออกที่คุณอาจสนใจ
- รวมสาเหตุการลาออกของพนักงานที่หัวหน้าทีมและ HR ต้องทำความเข้าใจ
- พนักงานลาออก! โปรแกรมบริหารงานบุคคลช่วย HR ได้อย่างไรบ้าง
การลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ตามกฎหมายแรงงานนั้น มีความผิดหรือไม่?
การลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ได้มีโทษทางอาญา และไม่ต้องรอการอนุมัติให้ออกจากงาน โดยเฉพาะองค์กรเอกชน ที่ไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุญาตก่อน สามารถแจ้งออก แล้วออกจากงานได้เลย เพราะองค์กรก็ไม่สามารถบังคับให้ใครมาทำงานได้โดยไม่ยินยอมหรือสมัครใจ มิเช่นนั้นจะเป็นแรงงานบังคับ แรงงานทาส ซึ่งผิดต่อรัฐธรรมนูญที่ว่า ห้ามเกณฑ์แรงงาน บังคับใช้แรงงาน
แต่การลาออกนั้น ก็ยังจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนลาออก อย่างน้อย 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เพราะตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้ว ลูกจ้างลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หากไม่บอก หรือออกไปกะทันหัน เมื่อเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ โดยนายจ้างต้องมีหลักฐานพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าการลาออกของลูกจ้างนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรหรือนายจ้างอย่างชัดเจน หากไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงความเสียหายใดๆ ที่จะสามารถเรียกค่าชดเชยกับลูกจ้างได้ ก็จะเป็นเหตุให้ศาลยอกฟ้องไปเอง
แตกต่างจากการลาออกของส่วนงานราชการ หรือหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องรอให้อนมุติการลาออกก่อนเท่านั้น จึงจะลาออกได้อย่างสมบูรณ์ เพราะการลาออกของลูกจ้างภาครัฐนั้น จะส่งผลกระทบต่อการบริการสาธารณะนั่นเอง
และสำหรับบางองค์กร ที่มีกฎระเบียบ ข้อบังคับตามสัญญาจ้างที่ระบุไว้ในแต่ละที่นั้น หากลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือแจ้งไม่เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับนั้น นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างตามสิทธิของลูกจ้าง แต่หากการลาออกนั้นสร้างความเสีย นายจ้างก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้เช่นกัน
ทำไมลูกจ้างจะลาออก ต้องแจ้งล่วงหน้า?
ในการทำงานแต่ละองค์กรนั้น ทุกๆ หน้าที่ ทุกๆ ตำแหน่ง ล้วนมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอยู่เสมอ ซึ่งหากตำแหน่งนั้นว่างไปโดยไม่มีใครมาทดแทน อาจทำให้งานมีปัญหา หรือเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะตำแหน่งยิ่งสูง ผลกระทบก็ยิ่งมากขึ้น บางองค์กรถึงกับให้แจ้งล่วงหน้านาน 90 วันเลยทีเดียว เพราะเวลาที่ลูกจ้างลาออกแล้ว ฝ่ายบุคคล หรือ HR จะต้องใช้เวลาในการสรรหาลูกจ้างคนใหม่เพื่อเข้ามาแทนตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาพอสมควร และแต่ละตำแหน่งก็จะใช้เวลาในการสรรหาไม่เท่ากันด้วย อีกทั้งในเวลาก่อนที่ลูกจ้างจะออกจากงานควรมีเวลาในการถ่ายเทงาน หรืออธิบายหน้าที่ต่างๆ ให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วย มิเช่นนั้นก็อาจสร้างความเสียหายตามมาภายหลังได้ หรืออาจจะติด Blacklist ในองค์กรและนอกองค์กรไปเลยก็เป็นได้
ลูกจ้างที่มีสัญญาจ้าง ควรแจ้งล่วงหน้ากี่วัน?
ลูกจ้างที่ทำงานภายใต้สัญญาจ้างชั่วคราวนั้น มักจะมีเงื่อนไขในการลาออกที่ไม่เหมือนกับลูกจ้างประจำขององค์กรทั่วไป ที่สามารถลาออกเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรอการอนุมัติ เพียงแค่ต้องแจ้งล่วงหน้าตามกฎระเบียบขององค์กร แต่สำหรับลูกจ้างสัญญาจ้างนั้น ลาออกก่อนที่สัญญาจ้างจะหมดลง อาจจะต้องชดเชยค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาจ้างนั้นๆ เพราะไม่สามารถทำงานตามที่สัญญาระบุไว้ได้
ลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องจ่ายเงินเดือนไหม? หักเงินได้หรือไม่?
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน นั้น หากลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า แต่องค์กรหรือนายจ้างจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ให้แก่ลูกจ้างอย่างถูกต้อง หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายจะผิดกฎหมาย ซึ่งลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้
แต่หากลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 งวดการจ่ายเงิน ซึ่งกรณีนี้ลูกจ้างจะเป็นผู้ผิดต่อ กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่นายจ้างก็ไม่สามารถหักเงินได้อยู่ดี แต่จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายกับลูกจ้างได้ หากการลาออกนั้นสร้างความเสียหายต่อนายจ้างหรือองค์กร
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการลาออก
- ควรระวังเกี่ยวกับวิธีการลาออก เพราะการแจ้งปากเปล่ากับนายจ้างในความจริงแล้วยังไม่ถือว่าเป็นการลาออกที่สมบูรณ์ ถ้าจะให้ดีควรแจ้งเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
- การลาออกควรปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับขององค์กรให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ฟ้องร้องตามมา
- สำคัญอย่างยิ่งคือ การถ่ายทอดงานให้กับเพื่อนร่วมงานให้เรียบร้อยและเข้าใจกัน เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมา เพราะมันคือผลเสียที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา ทบทวนให้ถี่ถ้วนก่อนการลาออกจากงาน เพราะ ถึงแม้ว่าเราจะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ตามสิทธิประกันสังคมแล้ว แต่สวัสดิการเดิมที่เป็นตัวช่วยในชีวิตประจำวันของเรานั้นจะหายไปด้วยเช่นกัน
สรุปการที่ลูกจ้างลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นไรไหม?
จากเรื่องการแจ้งล่วงหน้าของการลาออกที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ทำให้ทราบว่าลูกจ้างสามารถลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าได้ หากไม่สร้างความเสียหายใดๆ แก่องค์กรหรือนายจ้าง เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นนายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ทันที แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ ในการลาออกจากงาน เราควรปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรให้เรียบร้อย เพื่อรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ของเราเอง และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ต่อไปกับทั้งองค์กรและเพื่อนร่วมงานด้วย
สำหรับการลาออกของลูกจ้างในองค์กรนั้น อาจเป็นปัญหาหนึ่งของHR หรือนายจ้างเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า อาจทำให้ HR ต้องเร่งดำเนินการหลายๆ อย่างให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งโปรแกรมบริหารงานบุคคล HumanSoft มีระบบไว้รองรับสำหรับลูกจ้างที่ลาออก เป็นตัวช่วยให้ HR บริหารจัดการงานทุกอย่างได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น