ต้นปี 2568 ใครอยากลดหย่อนภาษีต้องรู้! Easy E-Receipt กลับมาอีกครั้ง พร้อมอัปเดตเงื่อนไขใหม่ ช้อปแบบไหนลดหย่อนได้สูงสุด มาดูกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- วิธีช้อปลดหย่อนภาษี 2567 ด้วย Easy E-Receipt
- รวมสรุปรายการลดหย่อนภาษี 2567 บุคคลธรรมดา
- วางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างง่าย ๆ ผ่าน App HumanSoft
- สรุปสั้นๆ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- เตือน!! ค่าปรับภาษี กรณียื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่าช้า
โครงการ Easy E-Receipt ปี 2568
ล่าสุดรัฐบาลได้เปิดตัว โครงการ Easy E-Receipt 2.0 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศช่วงต้นปี 2568 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากโครงการเดิม ให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ที่ต้องการใช้สิทธิ์ควรตรวจสอบรายละเอียดและวางแผนการใช้จ่ายให้ดีเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
ใครบ้างผู้มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0
ผู้ที่สามารถร่วมโครงการนี้ได้จะต้องเป็นบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ประจำปี 2568 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 หรือ ภ.ง.ด. 91) แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
เงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษีปี 2568 มีอะไรบ้าง
เงื่อนไขการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-Receipt 2.0 ปี 2568 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป
สามาถซื้อสินค้าหรือบริการที่หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ในกรณีที่ใช้จ่ายสินค้าตามเงื่อนไข ดังนี้
- ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน
- ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ได้เฉพาะซื้อสินค้าประเภทหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารทั้งรูปแบบเอกสารและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือร้านค้า OTOP ในข้อที่ 2.
2. ค่าใช้จ่ายในวิสาหกิจชุมชนหรือร้านค้า OTOP
สามาถซื้อสินค้าหรือบริการที่หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ในกรณีที่ใช้จ่ายสินค้าตามเงื่อนไข ดังนี้
- ซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
- ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
- ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
วิธีตรวจสอบ “ร้านค้า” ที่เข้าร่วม Easy E-Receipt
ผู้ใช้สิทธิสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) ได้ทางเว็บไซต์กรมสรรพากรที่ efiling.rd.go.th หรือ etax.rd.go.th โดยกรอกชื่อบริษัทและทำการค้นหา นอกจากนี้ สามารถสังเกตได้จากป้ายหรือสัญลักษณ์ของร้านค้าที่มีเครื่องหมาย Easy E-Receipt หรือ e-Tax ติดอยู่ หรือสอบถามข้อมูลจากทางร้านค้าโดยตรง
สรุป เช็กด่วน! เงื่อนไข Easy E-Receipt 2.0 ช้อปลดหย่อนภาษีต้นปี 68
โครงการ Easy E-Receipt 2.0 กลับมาอีกครั้งในปี 2568 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 16 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2568 แบ่งเป็น สูงสุด 30,000 บาท จากร้านค้าทั่วไป และสูงสุด 20,000 บาท จากร้านค้า OTOP หรือวิสาหกิจชุมชน ผู้ใช้สิทธิต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax และสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้ทาง efiling.rd.go.th หรือ etax.rd.go.th