PageView Facebook
date_range 01/08/2024 visibility 2812 views
bookmark HR Knowledge
ผลงานอันเกิดจากการว่าจ้าง ใครเป็นเจ้าของตามกฎหมายลิขสิทธิ์ - blog image preview
Blog >ผลงานอันเกิดจากการว่าจ้าง ใครเป็นเจ้าของตามกฎหมายลิขสิทธิ์

การสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ตามกฎหมายลิขสิทธิ์แล้วผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือนายจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ บทความนี้มีคำตอบ


บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ:


ว่าด้วยเรื่อง “กฎหมายลิขสิทธิ์”


กฎหมายลิขสิทธิ์ คือ กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ อันเกิดจากความคิดริเริ่ม การใช้สติปัญา ความรู้ ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นโดยมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธินักแสดงด้วย

 

สิทธิในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างผลงานขึ้นโดยไม่ต้องจดทะเบียนใด ๆ ดังนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรตระหนักในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนโดยการเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิหรือความเป็นเจ้าของในโอกาสต่อไป


ผลงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ มีอะไรบ้าง

งานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนด มีทั้งสิ้น 9 ประเภท ดังนี้



1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ บทความ บทกลอน โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม เช่น ท่าเต้น ท่ารำ ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว

3. งานศิลปกรรม เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย

4. งานดนตรีกรรม เช่น ทำนองเพลง หรือเนื้อร้องและทำนองเพลง

5. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีซีดีคาราโอเกะ

6. งานภาพยนตร์ เช่น บทภาพยนตร์ บทละคร

7. สิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดีเพลง

8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการโทรทัศน์

9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น การเพ้นท์ศิลปะบนร่างกาย

 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้กำหนดสิ่งที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ถือว่าเป็นผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ดังนี้

1. ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร เว้นแต่หากมีการนำข้อมูลดังกล่าว มาเรียบเรียงจนมีลักษณะเป็นงานวรรณกรรม เช่น การวิเคราะห์ข่าว บทความ ผลงานนั้นอาจได้รับความคุ้มครองในลักษณะของงานวรรณกรรม

2. รัฐธรรมนูญและกฎหมาย

3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือหนังสือตอบโต้อื่นใดของหน่วยงานรัฐ

4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1. ถึง 4. ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

6. ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎี

ทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์


ผลงานที่เกิดจากการว่าจ้าง ลิขสิทธิ์เป็นของนายจ้างหรือผู้สร้างสรรค์

สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการว่าจ้างนั้น การครอบครองลิขสิทธิ์ของผลงานแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้


 

1. ผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้การมอบหมายตามสัญญาจ้างแรงงาน ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของลูกจ้างผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่นายจ้างมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ตามที่ตกลงกัน รวมถึงการเผยแพร่ผลงาน แต่หากนายจ้างต้องการนำผลงานชิ้นนั้นไปแก้ไขดัดแปลง นายจ้างจะต้องขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์


2. นายจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

กรณีนายจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

1) การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้การมอบหมายหรือคำสั่ง หรือการว่าจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของหน่วยงานรัฐ

2) การสร้างสรรค์ผลงานโดยได้รับการว่าจ้างให้สร้างสรรรค์ผลงานโดยตรงจากผู้ว่าจ้าง ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ว่าจ้าง

 

หมายเหตุ: ในแต่ละกรณีหากมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง (ผู้สร้างสรรค์ผลงาน) ว่าให้ลิขสิทธิ์ในผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตการจ้างเป็นของผู้ใดก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น ๆ


การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในผลงานที่เกิดจากการว่าจ้าง

การคุ้มครองลิขสิทธิ์สำหรับผลงานที่เกิดจากการว่าจ้าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ต่องานอันเป็นลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้



1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง

2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน

3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง

4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามสามข้อแรก โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ ที่ไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม


หากถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานที่เกิดจากการว่าจ้าง ต้องทำอย่างไร

แนวทางปฏิบัติเมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดว่า คดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ ต้องมีผู้เสียหาย คือ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด ทั้งนี้คดีละเมิดลิขสิทธิ์คู่กรณีสามารถที่จะประนีประนอมยอมความกันเพื่อยุติคดีได้



สรุป ผลงานอันเกิดจากการว่าจ้าง ใครเป็นเจ้าของตามกฎหมายลิขสิทธิ์

การครอบครองลิขสิทธิ์ผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการว่าจ้าง มีกรณีพิจารณา คือ การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้การมอบหมายตามสัญญาจ้างแรงงาน ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของลูกจ้าง การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้การมอบหมายหรือการว่าจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของหน่วยงานรัฐ และการสร้างสรรค์ผลงานโดยได้รับการว่าจ้างโดยตรงจากผู้ว่าจ้าง ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ว่าจ้าง ในแต่ละกรณีมีข้อยกเว้นโดยหากมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ว่าให้ลิขสิทธิ์ในผลงานเป็นของผู้ใดก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น ๆ

 

ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์นั้นถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้แต่เป็นผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตการจ้างงานก็ดี ดังนั้นทั้งนายจ้างและลูกจ้างจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ และศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ก่อนมีการว่าจ้างงาน เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย

 

แหล่งอ้างอิง: กรมทรัพย์สินทางปัญญา

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้