หลายคนเคยได้ยินคำว่ากองทุนเงินทดแทน หรือกองทุนเงินทดแทนประกันสังคม แต่ก็ยังไม่รู้ว่ากองทุนเหล่านั้นคืออะไร และกิจการใดบ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
- นายจ้างควรรู้ รายได้ไหน ที่ต้องยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้าง
- วิธียื่นเอกสารแจ้งเข้าประกันสังคมทางออนไลน์ สำหรับนายจ้าง
- ความสำคัญและวิธีการส่งเงินสมทบประกันสังคม
- นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมออนไลน์เร็วทันใจด้วย e-Payment
- Q&A ไขข้อสงสัยเรื่องเช็กสิทธิประกันสังคม
กองทุนเงินทดแทนคืออะไร
กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนให้กับลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างเกิดอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน โดยไม่คำนึงถึงวันเวลาและสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ใน 4 กรณี ดังนี้
1. ค่ารักษาพยาบาล
เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง จ่าย 50,000 บาท แต่หากเกิดกรณีบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรัง หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มได้อีกสูงสุด 1,000,000 บาท
2. ค่าทดแทน
เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จนเป็นเหตุให้มีการหยุดงาน สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย จะได้รับค่าทดแทนรายเดือน 70% ของค่าจ้างรายเดือน แต่ไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน
3. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน
- ค่าใช้จ่ายในการกายภาพบำบัดเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 24,000 บาท
- ค่าผ่าตัดและบำบัดรักษา ไม่เกิน 40,000 บาท
- หากจำเป็นต้องจ่ายเพิ่มรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 180,000 บาท
- ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ไม่เกิน 160,000 บาท
- ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ ไม่เกิน 24,000 บาท
4. ค่าทำศพ
ผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบรายปีเข้ากองทุนให้กับสำนักงานประกันสังคม ในลักษณะเหมือนเบี้ยประกันเพียงปีละ 1 ครั้ง และแต่ละสถานประกอบการก็จะจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของธุรกิจ
นายจ้างกิจการใดบ้าง ที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน
ในปัจจุบัน กฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างในทุกประเภทกิจการและทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนประกันสังคม จากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็กและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้างบางกลุ่มในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็มีบางกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ดังนี้
กิจการที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ
- ราชการ / ส่วนกลาง / ส่วนภูมิภาค / ส่วนท้องถิ่น
- กิจการของรัฐวิสาหกิจ
- นายจ้างจากกิจการที่ประกอบธุรกิจโรงเรียนเอกชนตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครู หรือครูใหญ่
- นายจ้างที่ดำเนินกิจการที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาผลกำไรทางเศรษฐกิจ
- นายจ้างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
สรุปกองทุนเงินทดแทนคืออะไร? กิจการใดบ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบ
กองทุนเงินทดแทนเป็นกองทุนที่มีไว้คุ้มครองทั้งลูกจ้างและนายจ้างนั่นเอง เพราะเมื่อลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต กองทุนก็จะมีสิทธิประโยชน์ไว้ทดแทนให้กับลูกจ้างเสมอ และยังช่วยเหลือนายจ้างในกรณีที่เกิดวิกฤตไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยต่างๆ ให้กับลูกจ้างอีกด้วย ดังนั้นต่อให้กองทุนจะไม่ถูกบังคับจากกฎหมาย ก็ถือเป็นกองทุนเงินทดแทนที่นายจ้างทุกคนควรที่จะให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเช่นกัน