การทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญบริษัท เพื่อเปิดรับสิริมงคลและโชคดี ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน ซึ่งมีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง มาดูกันในบทความนี้
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
- ฤกษ์ดี ฤกษ์มงคล วันมงคลปี 67 วันธงชัย วันอธิบดี ทำบุญบริษัท
- วิธีคิดโอทีรายวันและรายเดือน ตามกฎกระทรวงแรงงาน
- 10 สวัสดิการที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด
ทำบุญเลี้ยงพระบริษัท ต้องเตรียมอะไรบ้าง? นิมนต์พระกี่รูป?
การทำบุญเลี้ยงพระของบริษัท เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นิยมทำกันประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กิจการรุ่งเรืองและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานด้วย โดยมีขั้นตอนสำหรับการเตรียมความพร้อมดังนี้
ขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมทำบุญบริษัท
การกำหนดวันทำบุญ
อันดับแรกก่อนสิ่งอื่นใด นั่นคือการกำหนดวันทำบุญบริษัท เพราะทุกอย่างที่จะถูกเตรียมการหลังจากนี้ จะต้องที่มีกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว เช่น การเตรียมนิมนต์พระ การวางแผนหยุดงานครึ่งวัน และการเตรียมอาหาร โดยการเลือกวันทำบุญนั้นสามารถดูตามวันฤกษ์ดี ฤกษ์มงคล สำหรับการทำบุญเลี้ยงพระเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับธุรกิจ รวมถึงเป็นวันที่ไม่มีงานเร่งด่วน หรืองานยุ่งมากๆ ด้วย
การเตรียมนิมนต์พระสงฆ์
หลังจากที่กำหนดวัน เวลาที่เหมาะสมได้แล้ว ต่อมาคือการนิมนต์พระ สามารถนิมนต์ตามหลักการเดียวกับงานบุญประเภทอื่นๆ คือควรนิมนต์พระจากวัดใกล้บริษัท เพื่อความสะดวกในการเดินทางของพระสงฆ์ และการนิมนต์พระควรติดต่อพระสงฆ์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลาพอสมควร โดยการนิมนต์พระสงฆ์นั้นจะต้องแจ้งข้อมูลกับวัดให้ชัดเจนในเรื่องสถานที่ เวลา และจำนวนพระกี่รูป ซึ่งส่วนมากจะนิมนต์ประสงฆ์จำนวน 5 รูป / 7 รูป / หรือ 9 รูป และที่นิยมกันมากที่สุดคือนิมนต์พระ 9 รูป เพราะเป็นเลขที่คนไทยถือว่าเป็นเลขมงคลมาช้านาน
การเตรียมสถานที่และอุปกรณ์
การจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์จะคล้ายกับการนิมนต์พระไปทำบุญที่บ้าน คือควรจัดเตรียมสถานที่สำหรับพระสงฆ์ และสถานที่สำหรับให้พระฉันอาหาร ซึ่งควรจะเป็นบริเวณกว้างที่รองรับพนักงานและผู้ที่มาร่วมงานให้เพียงพอ มีความสะอาด เป็นห้องที่มีความสงบ ไม่ติดกับทางเดิน ไม่ใกล้ห้องน้ำจนเกินไปและไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอกมากเกินไปด้วย
นอกจากนี้ควรจัดสรรที่สำหรับวางโต๊ะหมู่บูชา โดยจัดไม่ให้มีของอยู่เหนือโต๊ะหมู่บูชา หรือเหนือศีรษะพระสงฆ์ พื้นที่สำหรับพนักงานหรือผู้ร่วมงานนั่งก็ไม่ควรอยู่สูงกว่าพระเช่นกัน และไม่ควรมีภาพหรือของตกแต่งใดๆ แขวนอยู่ด้านบน
ในด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำบุญบริษัทนั้น ควรเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานที่ใช้ในพิธีสงฆ์ ซึ่งหากขาดชิ้นไหน ก็สามารถยืมกับทางวัดนั้นได้เลย โดยของที่ควรเตรียม ได้แก่
- ชุดโต๊ะหมู่บูชา พร้อมด้วยพระประธาน แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน ธูป และเทียน
- ภาชนะสำหรับใส่สำรับอาหารพระพุทธ และศาลพระภูมิเจ้าที่
- อาสนะพระ พร้อมด้วยพรมหรือเสื่อปูรอง
- ของใช้พระสงฆ์ เช่น กระโถนพระสงฆ์ ตาลปัตร กระดาษชำระ น้ำดื่ม
- เครื่องไทยธรรม และชุดสังฆทาน
- ชุดกรวดน้ำ สำหรับให้ผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
- อุปกรณ์เพื่อการเจิมและการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เช่น แป้งเจิม ขันน้ำมนต์ ดินสอพอง น้ำอบ และทองคำเปลว
การเตรียมวางแผนอาหาร
การวางแผนเพื่อเตรียมทำอาหารในวันทำบุญบริษัทนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณและสัดส่วนให้เพียงพอ โดยสามารถแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ซึ่งมีวิธีการเลือกที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
อาหารสำหรับพระพุทธ
อาหารสำหรับถวายพระพุทธ คืออาหารที่จัดใส่ภาชนะขนาดเล็กวางไว้เบื้องหน้าพระบูชาสำหรับถวายพระพุทธเจ้า ส่วนมากนิยมจัดข้าว 1 ที่ กับข้าวอีก 2-3 อย่าง ขนมหวานและน้ำเปล่า โดยของที่ไม่สามารถถวายพระตามพระวินัยก็ไม่สามารถถวายพระพุทธได้เช่นกัน
อาหารสำหรับพระสงฆ์
อาหารสำหรับถวายพระสงฆ์จะขึ้นอยู่กับจำนวนพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีด้วย โดยปกติจะฉันอยู่ 2 แบบ ได้แก่
- ฉันแบบวง คือ พระสงฆ์นั่งล้อมวง โดยมีสำรับอาหารอยู่ตรงกลาง และฉันรวมกัน อาจเป็นบนที่นั่ง หรือเป็นโต๊ะจีนก็ได้
- ฉันแบบขันโตก หรือเรียกว่า ขันโตก คือ การนำอาหารใส่ในสำรับภาชนะที่เรียกว่าโตก แล้วฆราวาสประเคน 1 โตก ต่อพระ 1 รูป การฉันแบบนี้ควรจัดพื้นที่สำหรับวางโตกเบื้องหน้าสงฆ์ไว้ล่วงหน้า
อาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่
อาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่ ของบริษัทที่มีศาลพระภูมิ สามารถใช้อาหารชุดเดียวกับอาหารเลี้ยงพระและเลี้ยงผู้ร่วมงานได้ และควรจัดสำรับแยกไว้ชุดหนึ่งสำหรับศาลพระภูมิ
อาหารสำหรับผู้ร่วมงาน
สามารถจัดเป็นโต๊ะจีนสำหรับนั่งทาน และเป็นซุ้มสำหรับเดินตักอาหารเอง หรือสามารถเป็นบุฟเฟต์ก็ได้ ตามความเหมาะสมของสถานที่และจำนวนผู้ร่วมงาน โดยอาหารนิยมใช้เมนูเดียวกับที่จัดเลี้ยงพระได้เลย
อาหารมงคลเสริมโชค
สามารถเสริมอาหารมงคลในงานทำบุญบริษัทได้ เพื่อเป็นสิริมงคล โดยเมนูมงคลช่วยเสริมโชคมีดังนี้
- เมนูอาหารมีไส้ อย่างซาลาเปา หรือถุงทองที่เชื่อกันว่าห่อความโชคดีไว้ข้างใน
- เมนูต้มจืด เช่น แกงจืดวุ้นเส้นหมูสับ สื่อถึงความสำเร็จราบรื่นเหมือนที่เวลาตักน้ำแกงอุ่นๆ มาซดจะรู้สึกลื่นคอ
- เมนูลาบ เช่น ลาบแซลมอน เสริมให้ได้ลาภสมชื่อ
- เมนูปลา เช่น ปลาสามรส เชื่อกันว่าปลาเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองก้าวหน้า
- เมนูเป็ด โดยเฉพาะเมนูยอดฮิตอย่างเป็ดปักกิ่ง แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จ
- เมนูขนมหวานชื่อมงคล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ถือเป็นขนมหวานสีทองรับทรัพย์ หรือขนมถ้วยฟู เพื่อให้กิจการเฟื่องฟูเหมือนชื่อขนม
การเตรียมจตุปัจจัย
ควรเตรียมเครื่องจตุปัจจัย หรือสิ่งของต่างๆ ที่จะถวายแก่พระสงฆ์ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ปัจจัย รวมไปถึงสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นแชมพู สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยารักษาโรค มีดโกน ผ้าไตรจีวร เป็นต้น โดยของที่เตรียมนี้ควรเป็นของที่มีคุณภาพ มีความทนทานและปลอดภัยในการใช้งาน และควรเตรียมจำนวนจตุปัจจัยให้เท่ากับจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์
การจัดการพิธีสงฆ์
สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันทำบุญบริษัท คือพิธีสงฆ์ ควรจัดการพิธีสงฆ์ตามลำดับให้เรียบร้อย ดังนี้
- เมื่อคณะสงฆ์มาถึง กล่าวนมัสการ นิมนต์นั่งในสถานที่ที่จัดไว้ และถวายน้ำ
- เมื่อถึงเวลามงคล ให้เริ่มพิธีโดยจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหมู่บูชา โดยจุดเทียนก่อนธูป และเริ่มจุดจากด้านขวาพระพุทธรูป แล้ววนไปทางซ้าย จากนั้นกราบพระพุทธในท่าเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีลตามลำดับ เมื่อไหว้พระพุทธเสร็จแล้วจึงนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์โดยใช้บทอาราธนาปริตร
- เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “อเสวนา จ พา ลานัง” ให้เจ้าภาพถวายข้าวพระพุทธ
- เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้วจึงถวายภัตตาหาร โดยใช้มือขวาจับก่อน และประเคนห่าง 1 ศอกยก เมื่อประเคนแล้วควรระวังไม่ให้สัมผัสโดนภัตตาหารอีก หากเผลอสัมผัสโดน ควรยกประเคนใหม่อีกครั้ง
- เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ ให้เก็บสำรับ จากนั้นเจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมและสังฆทาน ในขั้นตอนนี้ไม่ควรถวายเงินใส่ซอง เพราะผิดวินัย หากต้องการถวายเงินแก่พระสงฆ์ควรถวายเป็นใบปวารณา แล้วนำเงินไปมอบกับไวยาวัจกรแทน
- ลาข้าวพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนา จากนั้นผู้ร่วมงานจึงกรวดน้ำ และรับพร
- พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์
- เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์เจิมสถานที่ หากต้องการ
- ส่งพระสงฆ์กลับวัดหลังจบพิธี
สรุปการทำบุญเลี้ยงพระบริษัท มีและอุปกรณ์ที่ต้องจัดเตรียม
การเตรียมทำบุญบริษัทนั้น จะมีอุปกรณ์และขั้นตอนที่เหมือนกับการทำบุญบ้านทั่วไป มีรายละเอียดและขั้นตอนค่อนข้างมาก อีกทั้งหลายๆ อย่างยังต้องผ่านการอนุมัติจากทางผู้บริหารด้วย ซึ่งหน้าที่ทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการ เตรียมอุปกรณ์ หรือวางแผนพิธีสงฆ์ต่างๆ ล้วนเป็นหน้าที่ของ HR ทั้งสิ้น ทำให้มีภาระหน้าที่เข้ามาเพิ่มอีกไม่น้อย หาก HR สามารถลดภาระหน้าที่เดิมๆ ที่มีความยุ่งยากอยู่แล้วได้ จะสามารถบริหารจัดการ วางแผนและเตรียมงานทำบุญบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
โดยโปรแกรมบริหารงานบุคคล HumanSoft เป็นหนึ่งตัวช่วยที่สามารถลดภาระงานให้กับ HR ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคำนวณเงินเดือน ภาษี ประกันสังคม คำนวณเวลาการทำงาน จัดการโควต้าการลา การคิดOT เบี้ยขยัน บริหารสวัสดิการต่างๆ ทำให้ HR สามารถบริหารงานตามหน้าที่ทั้งหมดนี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และองค์กรก็จะเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กันด้วย