“การสื่อสารภายในองค์กร” หัวใจในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการสื่อสารภายในองค์กรมีกี่ประเภท และการสื่อสารภายในองค์กรมีทิศทางอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- HR ควรรู้ วิธีเติม passion ให้พนักงานด้วย Core Value
- กลยุทธ์การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้เข้มแข็งในยุคดิจิทัล
- พัฒนาประสิทธิภาพของพนักงานด้วย Performance Improvement Plan
- 7 เทคนิค พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ HR ควรรู้
"การสื่อสารภายในองค์กร" คืออะไร
การสื่อสารภายในองค์กรคืออะไร? การสื่อสารภายในองค์กร คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิด ความรู้สึก ระหว่างบุคคลภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้นทำให้ส่งผลดีต่อองค์กรในเชิงบวกได้
การสื่อสารภายในองค์กรเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กร ช่วยให้พนักงานเข้าใจเป้าหมาย กลยุทธ์ นโยบาย และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) คือ การสนับสนุนและส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในองค์กร
ประเภทของการสื่อสารภายในองค์กร
ประเภทของการสื่อสารภายในองค์กรที่ HR ควรรู้นั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ โดยแต่ละประเภทจะแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร ดังนี้
การสื่อสารจากล่างขึ้นบน (Upward Communication)
การสื่อสารจากล่างขึ้นบนคือการสื่อสารในรูปแบบ Bottom-Up เป็นการสื่อสารจากพนักงานไปยังผู้บริหาร มักใช้เพื่อสื่อสารปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็น เป็นต้น การสื่อสารประเภทนี้จะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ซึ่งการสื่อสารประเภทนี้ทำให้เกิด Employee Engagement หรือความผูกพันกับองค์กร
การสื่อสารจากบนลงล่าง (Downward Communication)
การสื่อสารจากบนลงล่างคือการสื่อสารในรูปแบบ Top-Down เป็นการสื่อสารจากผู้บริหารระดับสูงไปยังพนักงาน โดยการสื่อสารจากบนลงล่างนั้นมักใช้เพื่อสื่อสารนโยบาย กลยุทธ์ เป้าหมาย ข้อมูลการทำงาน และกฎระเบียบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสื่อสารในทิศทางเดียว
การสื่อสารแนวทแยง (Diagonal Communication)
การสื่อสารแนวทแยงเป็นการสื่อสารข้ามผ่านแผนก ข้ามระดับ ข้ามสายงาน หรือข้ามหน่วยงาน เช่น ฝ่าย HR ให้คำปรึกษากับหัวหน้าแผนกการตลาดเรื่องการรับสมัครพนักงานใหม่ เป็นต้น
การสื่อสารแนวนอน (Horizontal Communication)
การสื่อสารแนวนอนเป็นการสื่อสารในกลุ่มงานเดียวกัน หรือระดับเดียวกัน เช่น เพื่อนร่วมงาน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในแผนกเดียวกัน ซึ่งการสื่อสารประเภทนี้มักเป็นการสื่อสารที่มีความเป็นมิตรและเป็นกันเอง อีกทั้งยังช่วยส่งผลให้พนักงานสนิทสนมกันมากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรได้
ทิศทางการสื่อสารภายในองค์กร
ทิศทางของการสื่อสารภายในองค์กรแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การสื่อสารทางเดียว และการสื่อสารสองทาง โดยแต่ละทิศทางมีรายละเอียดดังนี้
การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication)
การสื่อสารทางเดียวเป็นการสื่อสารหรือส่งข่าวสารไปยังผู้รับ หรือบุคลากรภายในองค์กรเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่มีการตอบกลับหรือผู้รับไม่สามารถตอบสนองกลับได้ในทันที ซึ่งการสื่อสารในทิศทางเดียวของภายในองค์กรนั้น มักเป็นการสื่อสารที่เป็นการประกาศข่าวสารขององค์กร ประกาศสวัสดิการบริษัท และประกาศข้อบังคับการทำงาน เป็นต้น
การสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication)
การสื่อสารสองทาง คือกระบวนการที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือข้อความระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยทั้งสองฝ่ายมีโอกาสในการสื่อสาร ตอบกลับ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เช่น การประชุม การพูดคุยสนทนา เป็นต้น นอกจากนี้การสื่อสารสองทางนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีการตอบกลับในทันที เช่น HR สำรวจความชอบของพนักงานโดยใช้ Google Forms และรอให้พนักงานเข้ามาตอบกลับ ก็จัดว่าเป็นการสื่อสารสองทางเช่นเดียวกัน
สรุปการสื่อสารภายในองค์กรคืออะไร มีกี่ประเภท และมีทิศทางอย่างไร
การสื่อสารภายในองค์กร คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิด ความรู้ ระหว่างบุคคลภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน โดยการสื่อสารภายในองค์กรมีทั้งหมด 4 ประเภทได้แก่ การสื่อสารจากล่างขึ้นบน การสื่อสารจากบนลงล่าง การสื่อสารแนวทแยง และการสื่อสารแนวนอน ซึ่งการสื่อสารแต่ละประเภทนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร
การสื่อสารภายในองค์กรเรียกได้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ สร้างการทำงานเป็นทีม ความเข้าใจ และความชัดเจนในการทำงานร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยม