หลายคนเข้าใจว่าลาพักร้อนเป็นสิทธิที่ใช้ได้ทันที แต่ความจริงแล้ว นายจ้างสามารถไม่อนุมัติได้หรือไม่? มาร่วมเจาะลึกข้อกฎหมายแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างต้องรู้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- บริษัทห้ามลาพักร้อน ลากิจเกิน 3 วันต่อเดือน กฎแบบนี้ทำได้ไหม
- Q&A ลาพักร้อนติดกันได้กี่วัน สะสมวันลาไว้ใช้ปีถัดไปได้ไหม
- วิธีคำนวณสิทธิวันลาพักร้อนที่ HR ควรรู้
- ลาพักร้อน ลาป่วย ลากิจได้กี่วัน ตามกฎหมายแรงงาน
- ตรวจสอบโควต้าวันลางานง่ายๆ ด้วยระบบลางานออนไลน์
ว่าด้วยเรื่อง “วันลาพักร้อน” ตามกฎหมายแรงงาน
วันลาพักร้อน หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นสิทธิของพนักงานที่ต้องได้รับตามกฎหมายแรงงาน เพื่อให้มีโอกาสพักจากการทำงานและฟื้นฟูสภาพร่างกายหรือจิตใจ นายจ้างมีหน้าที่จัดวันหยุดพักร้อนให้พนักงานที่ทำงานครบ 1 ปีขึ้นไป โดยต้องจัดให้ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี และสามารถเพิ่มจำนวนวันได้ตามนโยบายขององค์กร โดยทั่วไป วันลาพักร้อนถือเป็นวันหยุดที่ได้รับค่าจ้าง และสามารถใช้ได้ตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
นายจ้างมิสิทธิ์ไม่อนุมัติให้ใช้วันลาพักร้อนได้หรือไม่ตามกฎหมายแรงงาน
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ นายจ้างมีหน้าที่จัดให้พนักงานได้รับวันหยุดตามประเภทต่าง ๆ ได้แก่ วันหยุดประจำสัปดาห์ (มาตรา 28) วันหยุดตามประเพณี (มาตรา 29) และวันหยุดพักผ่อนประจำปี (มาตรา 30) ซึ่งพนักงานที่ทำงานครบ 1 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิในการลาพักร้อน และสามารถใช้สิทธินี้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายนายจ้างมีสิทธิ์พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ลูกจ้างลาพักร้อนตามวันที่ร้องขอได้ใน 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 หากพนักงานขอลานอกเหนือจากวันที่นายจ้างกำหนด
ตามมาตรา 30 นายจ้างมีสิทธิเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี และต้องแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า ดังนั้น หากพนักงานขอลาพักร้อนในวันอื่นที่ไม่ตรงกับที่นายจ้างกำหนด นายจ้างสามารถปฏิเสธได้
กรณีที่ 2 หากการลาไม่เป็นไปตามระเบียบของบริษัท หรือส่งผลกระทบต่อการทำงาน
ในกรณีที่นายจ้างและพนักงานตกลงให้สามารถลาพักร้อนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละปี แต่พนักงานขอลาโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด หรือการลาจะส่งผลกระทบต่องานจนเกิดความเสียหาย เช่น มีพนักงานหลายคนในแผนกขอลาพร้อมกัน ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำเนินงาน นายจ้างสามารถพิจารณาไม่อนุมัติการลาได้
ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่พนักงานดำเนินการขอลาพักร้อนตามขั้นตอนของบริษัท แต่ถูกนายจ้างปฏิเสธทุกครั้งโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม และเมื่อตลอดทั้งปีพนักงานไม่ได้รับวันหยุดพักผ่อนเลย กรณีนี้ถือว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานตามมาตรา 62 หากนายจ้างไม่ให้พนักงานใช้วันลาพักร้อน นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราวันหยุดให้พนักงาน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
สรุป พนักงานขอลาพักร้อน นายจ้างไม่อนุมัติได้หรือไม่ตามกฎหมายแรงงาน
กล่าวโดยสรุป วันลาพักร้อนถือเป็นสิทธิของพนักงานที่ทำงานครบ 1 ปีขึ้นไป โดยกฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างต้องจัดวันหยุดพักร้อนให้ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี และสามารถเพิ่มจำนวนวันได้ตามนโยบายบริษัท พนักงานสามารถยื่นขอลาพักร้อนล่วงหน้าตามระเบียบบริษัท ทั้งนี้นายจ้างมีสิทธิพิจารณาอนุมัติหรือเลื่อนวันลาได้ หากมีเหตุจำเป็นทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม นายจ้างไม่สามารถตัดสิทธิวันลาพักร้อนของพนักงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร