“โรควิตกกังวล” ภัยสุขภาพใกล้ตัวของคนวัยทำงาน มีอาการแบบไหนบ้างที่สุ่มเสี่ยง และมีวิธีการรับมือแก้ไขอย่างไร มาเช็กอาการและรู้เท่าทันการรับมือไปกับบทความนี้เลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- เช็กอาการโรคซึมเศร้าของพนักงาน ด้วยแบบทดสอบโรคซึมเศร้า
- Checklist อาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม
- Checklist!! คนประเภทใดที่เข้าข่ายเป็นโรค Imposter Syndrome
- People Pleaser คืออะไร ผลเสียที่ทำไมคุณควรเลิกเป็นคนแบบนี้
- Introvert คืออะไร เช็กความเป็น Introvert ในตัวคุณ
รู้จักกับโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) เป็นภาวะที่เกิดจากการรู้สึกกังวลหรือเครียดที่มีความรุนแรงมากกว่าปกติ และมีอาการเป็นระยะเวลานานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต หากไม่สามารถควบคุมได้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายตามมา โรควิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย มักพบมากในวัยทำงาน เพราะสภาพแวดล้อมในที่ทำงานถือเป็นแหล่งเพาะบ่มความเครียดชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นความกดดันในการทำงาน หรือบรรยากาศในที่ทำงานที่ไม่ดี เป็นต้น เมื่อคนเราตกอยู่ในภาวะความวิตกกังวลนาน ๆ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานไปด้วย
ประเภทของโรควิตกกังวลในวัยทำงาน
โรควิตกกังวลในวัยทำงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)
โรควิตกกังวลทั่วไป คือ ภาวะที่มีอาการวิตกกังวลที่มากเกินไปในเรื่องทั่ว ๆ ไป และเป็นในระยะที่ยาวนานกว่าปกติ เช่น เรื่องเรียน การทำงาน ปัญหาชีวิตประจำวัน เป็นต้น
2. โรคแพนิก (Panic Disorder)
โรคแพนิค คือ ภาวะอาการที่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีปัจจัยกระตุ้นชัดเจน ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมีอากาศมือสั่น ใจสั่น หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรง อาจมีอาการเหนื่อยหอบร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บหน้าอก เวียนหัว คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน เป็นต้น โดยผู้ที่มีอาการแพนิกมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนก หรือไม่กล้าออกไปไหนจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
3. โรควิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety Disorder)
โรควิตกกังวลทางสังคม คือ ภาวะวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจุดสนใจของผู้อื่น หรือสถานการณ์ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เช่น เมื่อต้องออกไปนำเสนอ เวลาประชุม หรือเวลาที่ต้องระดมไอเดีย เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะของ Social Anxiety Disorder นั้น มักจะเกิดความรู้สึกกดดัน ประหม่า และอาจพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว
4. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder)
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD คือ ภาวะวิตกกังวลจากความคิดที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (obsession) รวมไปถึงการมีพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อความคิดซ้ำ ๆ (compulsion) ที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกว่ามือไม่สะอาดก็จะล้างมือซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้ง การเช็กอีเมล หรือการแจ้งเตือนอยู่ตลอดเวลา เพราะกังวลว่าจะพลาดอะไรไป โดยพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องทำให้ตนเองเกิดความเดือดร้อนรำคาญและส่งผลต่อการกำเนินชีวิต
โรควิตกกังวลในวัยทำงานมีอาการอย่างไรบ้าง
โดยปกติแล้วคนเราเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ความเครียดหรือความวิตกกังวลก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งอาการของผู่ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลสามารถสังเกตได้ดังนี้
- กระวนกระวายบ่อยครั้ง ไม่มีสมาธิ
- หงุดหงิดง่ายเกินเหตุ
- เหนื่อยล้าง่าย หายใจลำบาก
- หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- ชาบริเวณมือและเท้า
- ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสียบ่อย ๆ
หากเกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นบ่อยครั้งและกินระยะเวลายาวนาน หรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นอกเหนือไปจากเวลาทำงาน จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ตระหนักว่าคุณเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลและควรหาแนวทางการแก้ไขต่อไป
วิธีการรับมือและรักษาโรควิตกกังวลในวัยทำงาน
การรับมือและรักษาโรควิตกกังวลในวัยทำงานนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเครียด
ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเครียด เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมผ่อนคลาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกายซึ่งจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารที่ช่วยลดความเครียด เป็นต้น
2. เรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดด้วยตนเอง
ควรเรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดด้วยต้นเอง เช่น วางแผนการทำงานให้มีความสมดุล จัดตารางเวลาชีวิตในแต่ละวันอย่างเหมาะสม และฝึกสมาธิเพื่อควบคุมความวิตกกังวล ซึ่งจะช่วยลดการกระตุ้นของระบบประสาทตลอดจนเพิ่มความสงบสุขให้กับจิตใจ
3. พูดคุย ปรึกษาปัญหากับคนใกล้ชิด
ควรพูดคุย บอกเล่าปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือคนที่ไว้ใจ เพื่อเป็นการแชร์ความคิดเห็น รวมถึงเพื่อให้ได้รับความคิดเห็นที่อาจสนับสนุน หรือเป็นคำแนะนำสำหรับจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้
4. เข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอนทางจิตเวช
หากรู้สึกว่าปัญหาความวิตกกังวลได้ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นจัดการด้วยตนเองไม่ได้ อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักบำบัดเพื่อรับคำแนะนำในการรักษาและบำบัดต่อไป โดยการรักษาทางจิตเวชจะมีอยู่ด้วยกัน 2 กระบวนการ คือ การทำจิตบำบัด และการใช้ยาบำบัด
สรุป โรควิตกกังวลในวัยทำงาน เช็กอาการและแนวทางแก้ไข
โรควิตกกังวลในวัยทำงาน เป็นภาวะความกังวลหรือความเครียดที่รุนแรงมากกว่าปกติ และมีอาการเป็นระยะเวลานานจนเป็นผลมาจากความตึงเครียดจากการทำงาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการทำงาน สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคแพนิก โรควิตกกังวลทางสังคม และโรคย้ำคิดย้ำทำ มักมีอาการพึงสังเกต เช่น ขี้กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย เหนื่อยล้า หายใจลำบาก อ่อนเพลีย หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ชาบริเวณมือและเท้า ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย หรือท้องเสียบ่อย ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้วิธีการรับมือและรักษาโรควิตกกังวลในวัยทำงานทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเครียด การเรียนรู้วิธีการจัดการความเครียดด้วยตนเอง การพูดคุย ปรึกษาปัญหากับคนใกล้ชิด และการเข้าสู่กระบวนการรักษาตามขั้นตอนทางจิตเวช