รวมรายการลดหย่อนภาษี 2567 บุคคลธรรมดา ทั้งลดหย่อนส่วนตัวครอบครัว กลุ่มเงินบริจาค, กลุ่มประกันและการลงทุน และกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ มีอะไรบ้างไปดูกัน
อ่านบทความที่คุณอาจสนใจเพิ่มเติม:
- วิธีช้อปลดหย่อนภาษี 2567 ด้วย Easy E-Receipt
- รวมสิทธิลดหย่อนภาษี 2566
- วางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างง่าย ๆ ผ่าน App HumanSoft
- สรุปสั้นๆ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ลดหย่อนภาษีคืออะไร
ลดหย่อนภาษี หรือ ค่าลดหย่อนภาษี คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีรายได้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ทำให้เราเสียภาษีน้อยลงนั่นเองค่ะ
รวมสิทธิลดหย่อนภาษี 2567
สำหรับรายการลดหย่อยภาษี 2567 (ยื่นภาษีปี 2568) มีรายการลดหย่อนภาษีที่สำคัญซึ่งแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ดังนี้
ลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท
สำหรับลดหย่อนภาษีส่วนตัวสามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวนี้สามารถใช้ได้กับทุกคนไม่ว่าจะมีสถาะโสดหรือแต่งงาน
ลดหย่อนภาษีคู่สมรส 60,000 บาท
เงื่อนไขคือคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย แต่ฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีรายได้ และสามารถใช้ได้สูงสุด 1 คนเท่านั้น
ลดหย่อนเลี้ยงดูบุตร 30,000 บาทต่อคน
สำหรับลดหย่อนภาษีเลี้ยงดูบุตรสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน) หรือบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม (สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน) โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- อายุไม่เกิน 20 ปี หรือ 21-25 ปี (ถ้ากำลังศึกษาระดับ ปวส. หรือสูงกว่า)
- บุตรต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
- กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
ลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อแม่คนละ 30,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับเลี้ยงดูพ่อแม่ รวมถึงพ่อแม่ของคู่สมรสสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้นพ่อแม่บุญธรรม โดยสามารถลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ใช้สิทธิ์ได้สูงสุดไม่เกิน 4 คน (พ่อและแม่ของทั้งตนเองและคู่สมรส) รวมเป็นสูงสุด 120,000 บาท เงื่อนไขคือ อายุของพ่อแม่ต้องมากกว่า 60 ปี และพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี กรณีที่มีพี่น้องสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพคนละ 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนในการดูแลอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยเงื่อนไขของผู้พิการที่ได้รับอุปการะคือ มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับการอุปการะ
กรณีที่ผู้พิการเป็นพ่อแม่ บุตร หรือคู่สมรสก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ทั้งสองส่วน
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และการคลอดบุตรสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครรภ์
ลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
ลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค เป็นสิทธิที่ช่วยลดหย่อนภาษีโดยพิจารณาจากการบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์และการพัฒนาสังคมดังนี้
เงินบริจาคทั่วไป
สำหรับการบริจาคทั่วไปสามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว โดยบริจาคให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ เช่น สถานศึกษา สถานพยาบาล องค์การของรัฐบาล หรือมูลนิธิต่าง ๆ โดยต้องตั้งอยู่ในประเทศไทย องค์กรที่อยู่ต่างประเทศไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา และการพัฒนาสังคม
เงินบริจาคเพื่อสังคมที่บริจาคให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนภาษีแล้ว โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร >> https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/portal/for-donation-unit
บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน
ประกันสังคม 9,000 บาท
กรณีที่ลูกจ้างที่มีการส่งเงินสมทบประกันสังคม ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 9,000 บาท
ประกันสุขภาพพ่อแม่ 15,000 บาท
ประกันสุขภาพพ่อแม่ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของพ่อแม่
ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ 25,000 บาท
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ 100,000 บาท
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (รวมกับประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท ด้วย) โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หากเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบกำหนด 10 ปี จะถือว่าผิดเงื่อนไข และไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
ลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุนและเงินออม
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท เงื่อนไขคือต้องถือครองหน่วยลงทุนอย่างน้อย 10 ปีเต็ม นับแบบวันชนวันจากวันที่ซื้อ ไม่บังคับซื้อทุกปี หากผิดเงื่อนจะมีการลงโทษด้านภาษีเช่นกัน
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน) ไม่มีกำหนดขั้นต่ำในการซื้อ และต้องถือครองหน่วยลงทุนจนถึงอายุ 55 ปี ทั้งนี้หากผิดเงื่อนไขจะต้องคืนเงินภาษีตามลักษณะของการผิดเงื่อนไขที่เกิดขึ้น
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 500,000 บาท (รวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ข้าราชการที่ต้องจ่ายเงิน กบข. เป็นประจำทุกเดือน สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้พึงประเมิน ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท วงเงินนี้สามารถใช้รวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ฟรีแลนซ์ พ่อค้า-แม่ค้า หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อการออมเงินในระยะยาวพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีเต็ม นับแบบวันชนวันจากวันที่ซื้อ
ลดหย่อนภาษีกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ
Easy e-Receipt 2567 ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท
Easy e-Receipt 2567 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท โดยใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt) ระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), สินค้า OTOP, และหนังสือรวมถึง E-Book
เที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวใน 55 จังหวัดเมืองรอง โดยสามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท ครอบคลุมค่าบริการมัคคุเทศก์, แพ็คเกจทัวร์, ค่าที่พักโรงแรม, รีสอร์ท, และโฮมสเตย์ ระยะเวลาในใช้จ่ายระหว่าง 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 โดยใช้หลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
- ภาคเหนือ 16 จังหวัด:
เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี และพะเยา
- ภาคอีสาน 18 จังหวัด:
อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ
- ภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันตก 12 จังหวัด:
ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี
- ภาคใต้ 9 จังหวัด:
นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
สำหรับการกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว, คอนโด, ห้องชุด เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามดอกเบี้ยจ่ายจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567–2568 ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
ลดหย่อนได้ 10,000 บาทต่อค่าก่อสร้างทุก ๆ 1 ล้านบาท (รวม VAT) รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท ต่อบ้าน 1 หลัง โดยบ้านต้องมีมูลค่าก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้านบาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568
สรุปรวมรายการลดหย่อนภาษี 2567 บุคคลธรรมดา
การลดหย่อนภาษีปี 2567 นั้นมีหลากหลายกลุ่มที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนส่วนบุคคล, การบริจาคเพื่อสังคม, การลงทุนเพื่อการเกษียณ, รวมถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายต่าง ๆ ผู้เสียภาษีควรศึกษาและใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่เพื่อช่วยลดภาระภาษีที่ต้องชำระในปีนี้