PageView Facebook
date_range 19/08/2024 visibility 591 views
bookmark HR Knowledge
การประเมิน 360 องศา: พัฒนาบุคลากรด้วย feedback จากทุกทิศทาง - blog image preview
Blog >การประเมิน 360 องศา: พัฒนาบุคลากรด้วย feedback จากทุกทิศทาง

ในโลกแห่งการทำงานยุคปัจจุบันที่หลายองค์กรให้ความสำคัญกับพนักงานมากขึ้น “การประเมิน 360 องศา” เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรได้อย่างรอบด้าน


บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ:


รู้จักกับการประเมิน 360 องศา


การประเมิน 360 องศา (360-Degree Feedback) คือ การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กรอย่างรอบด้าน โดยอาศัยข้อมูลการประเมินจากทรัพยากรบุคคลรอบตัวผู้ถูกประเมิน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องในทีม ลูกค้าผู้ใช้บริการ หรือแม้แต่ตนเองก็ต้องประเมินผลการทำงานของตัวเองด้วยว่ามีพัฒนาการทั้งความสามารถและศักยภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งกระบวนการประเมินนี้จะช่วยให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถด้านการทำงาน รวมถึงพฤติกรรมของผู้ถูกประเมินในมุมมองที่ครอบคลุม หลากหลาย และรอบด้าน ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น


การประเมิน 360 องศา มีความสำคัญอย่างไร

การประเมิน 360 องศา เป็นหนึ่งในกกระบวนการประเมินและวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในระยะเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงาน เพื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนเลื่อนตำแหน่ง หรือเพื่อบริหารความสัมพันธ์ของพนักงานและองค์กร แต่จะมีความสำคัญแตกต่างไปจากการประเมินพนักงานแบบทั่วไปอย่างไรนั้น มีดังนี้



1. รู้ถึงพัฒนาการและศักยภาพของพนักงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การประเมิน 360 องศานั้นเป็นการประเมินผลพัฒนาการและทักษะความสามารถของพนักงานอย่างรอบด้าน โดยอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริงจากบุคคลรอบตัวของผู้ถูกประเมิน ทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รวมถึงผลการประเมินตนเอง จึงทำให้ได้มาซึ่งข้อมูล feedback ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมามากกว่าการประเมินแบบทั่วไป

 

2. กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการประเมิน 360 องศา เป็นการประเมินที่ผู้ได้รับการประเมินจะต้องถูกประเมินการทำงานโดยบุคคลรอบตัว จึงเป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรทำงานอย่างกระตือรือร้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์กร

 

3. เกิดความยุติธรรมในการประเมินผล

การสอบถามข้อมูลจากบุคคลรอบด้านจะทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ได้มาจากมุมมองเดียว และเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน บางครั้งผู้ประเมินอาจนำเสนอแต่แง่ดีให้ตนเอง ซึ่งความเห็นจากบุคคลอื่น ๆ จะทำให้เกิดมุมมองในข้อเท็จจริงที่หลากหลายขึ้น หรือบางทีเจ้านายอาจมีอคติกับลูกน้อง จึงประเมินผลให้ไม่ดี แต่การสอบถามคนอื่น ๆ ที่มีความเห็นตรงหรือต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความตรงไปตรงมาในข้อเท็จจริงมากขึ้น


4. เห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพนักงานได้ง่าย

มุมมองจากหลายมุมทำให้เห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพนักงานแต่ละคนได้ดีกว่า สามารถหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขจุดด้อย และส่งเสริมจุดเด่นของพนักงานเพื่อพัฒนาองค์กรได้ง่ายขึ้น

 

5. ส่งเสริมความผูกพันต่อองค์กร

พนักงานที่ได้รับการประเมินอย่างยุติธรรมและมีโอกาสพัฒนาตนเองมักจะมีความพึงพอใจและผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น ซึ่งช่วยลดอัตราการลาออกและเพิ่มความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย


การประเมิน 360 องศา ควรให้ใครเป็นผู้ประเมินบ้าง

การประเมิน 360 องศาสำหรับพนักงานในบริษัทหรือองค์กรควรมีผู้ประเมินจากหลากหลายแหล่งรอบด้าน เพื่อให้ได้ feedback ที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ที่ควรมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินมีดังนี้



1. หัวหน้าโดยตรง

หัวหน้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเป็นผู้มีส่วนร่วมอันดับแรกในการประเมินผล เนื่องจากเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลพนักงานโดยตรง สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานทั้งด้านทักษะความสามารถ พัฒนาการ และพฤติกรรมการปฏิบัติตามนโยบายขององค์กร

 

2. เพื่อนร่วมงาน

เพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันหรือทีมเดียวกันถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการประเมินผล เนื่องจากสามารถให้ feedback เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการสื่อสาร และทัศนคติในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังอาจให้เพื่อนร่วมงานต่างแผนกที่มีความเกี่ยวข้องด้านการประสานงานร่วมกันเป็นผู้ร่วมประเมินผลได้อีกด้วย เพื่อให้ได้มาซึ่งมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นประกอบการประเมินผล

 

3. ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา

กรณีพนักงานที่ได้รับการประเมินมีบทบาทเป็นหัวหน้าทีม ลูกน้องสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการเป็นผู้นำทีม ความเที่ยงตรง การสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นของลูกน้องในทีม ตลอดจนความสามารถในการจัดการและพัฒนาทีมงาน

 

4. ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ

กรณีพนักงานที่ได้รับการประเมินมีหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ การรับ feedback จากลูกค้าก็ถือเป็นมุมมองสำคัญ โดยสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการลูกค้า ความพึงพอใจของลูกค้าต่อการบริการ และความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า

 

5. การประเมินตนเอง

การประเมินตนเองเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้พนักงานมีโอกาสสะท้อนถึงศักยภาพการทำงานและความสามารถของตนเอง เปรียบเทียบกับ feedback ที่ได้รับจากผู้ประเมินอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเองต่อไปได้


การประเมิน 360 องศา มีหลักเกณฑ์อย่างไร

การประเมิน 360 องศาควรมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการประเมิน ดังนี้



1. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)

  • ความสามารถในการสื่อสารอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

  • การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้อื่น

  • การสื่อสารระหว่างทีมหรือนอกทีมเพื่อประสานงาน

 

2. การทำงานเป็นทีม (Teamwork)

  • ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การสนับสนุนและช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน

  • การจัดการความขัดแย้งในทีมและการส่งเสริมความสามมัคคี

 

3. การจัดการเวลา (Time Management)

  • ความสามารถในการจัดสรรเวลาและจัดการงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน

  • การตรงต่อเวลาและการปฏิบัติงานลุล่วงตามกำหนดเวลา

      • การจัดลำดับความสำคัญของงานและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. การแก้ไขปัญหา (Problem-Solving Skills)

  • ความสามารถในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

  • การตัดสินใจที่ดีและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

 

5. การพัฒนาตนเอง (Self-Development)

  • ความตั้งใจในการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ ๆ

  • การรับฟังและนำข้อชี้แนะไปปรับปรุงตนเอง

  • ความสามารถในการเรียนรู้จากประสบการณ์และข้อผิดพลาด

 

6. จริยธรรมและความโปร่งใส (Ethics and Integrity)

  • การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมและนโยบายขององค์กร

  • ความโปร่งใสในการทำงานและการรักษาความลับขององค์กร

 

7. ความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Adaptability)

  • ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับสถานการณ์ใหม่ ๆ

  • ความยืดหยุ่นในการทำงานภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอน


สรุป การประเมิน 360 องศา: พัฒนาบุคลากรด้วย feedback จากทุกทิศทาง

การประเมิน 360 องศา เป็นหนึ่งในกกระบวนการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน โดยอาศัยข้อมูลการประเมินจากบุคคลรอบตัวผู้ถูกประเมิน ได้แก่ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกค้า ตลอดจนตนเอง โดยมีความสำคัญ คือ รู้ถึงพัฒนาการและศักยภาพของพนักงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เกิดความยุติธรรมในการประเมินผล เห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพนักงานได้ง่าย และส่งเสริมความผูกพันต่อองค์กร หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน ด้แก่ ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การจัดการเวลา ทักษะการแก้ไขปัญหา การพัฒนาตนเอง ความโปร่งใส และความยืดหยุ่นในการปรับตัว

 

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้