พนักงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ปัญหาสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกองค์กร เมื่อเกิดเหตุดังนี้ HR จะต้องทำอย่างไร ตามหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลช่วยเหลือพนักงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- มัดรวมสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน
- Q&A กองทุนเงินทดแทนนายจ้างต้องจ่ายเท่าไหร่ และจ่ายอย่างไร?
- กองทุนเงินทดแทนคืออะไร? กิจการใดบ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบ
- Q&A พนักงานเกิดอุบัติเหตุ HR ต้องแจ้งประกันสังคมไหม อย่างไร?
- นายจ้างควรรู้ รายได้ไหน ที่ต้องยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้าง
ว่าด้วยเรื่อง “อุบัติเหตุจากการทำงาน”
อุบัติเหตุจากการทำงาน คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือไม่คาดคิดขณะทำงาน และไม่ได้มีมาตรการหรือแผนการควบคุมไว้ก่อนในสถานที่ทํางาน ซึ่งทำให้พนักงานได้รับบาดเจ็บ ป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยลักษณะของอุบัติเหตุจากการทำงานอาจแบ่งได้ตามสาเหตุ เช่น
• อุบัติเหตุทางกายภาพ เช่น การตกจากที่สูง การโดนของหนักตกใส่ หรือการถูกเครื่องจักรหนีบ
• อุบัติเหตุทางเคมี เช่น การสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือการเกิดระเบิดจากสารเคมี
• อุบัติเหตุทางชีวภาพ เช่น การติดเชื้อจากเชื้อโรคหรือสารชีวภาพในที่ทำงาน
• อุบัติเหตุทางไฟฟ้า การถูกไฟฟ้าช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร
เกี่ยวกับการคุ้มครอง “อุบัติเหตุจากการทำงาน”
การคุ้มครองอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของพนักงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ในประเทศไทยมีกฎหมายรองรับการคุ้มครองนี้ คือ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โดยกำหนดให้นายจ้างทุกประเภทกิจการและทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนประกันสังคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันให้พนักงานหรือลูกจ้างได้รับการชดเชยหรือดูแลหากเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตขณะทำงาน
ในส่วนของการคุ้มครอง กองทุนเงินทดแทนจะคุ้มครองทันทีตั้งแต่วันแรกที่พนักงานเข้าทำงานให้กับนายจ้าง
Tips! อ่านบทความเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> มัดรวมสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน <<
เมื่อพนักงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน HR ต้องทำอย่างไร
เมื่อในสถานประกอบการมีพนักงานประสบอุบัติเหตุเกิดขึ้น สิ่งที่ HR หรือนายจ้างต้องดำเนินการเกี่ยวกับความคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยของพนักงาน มีดังนี้
1. แจ้งต่อกองทุนเงินทดแทนประกันสังคม
HR หรือนายจ้างจะต้องแจ้งเรื่องการประสบอุบัติเหตุจากการทำงานของพนักงานตามแบบ กท.16 โดยยื่นเรื่อง ณ สำนักงานประกันสังคมที่พนักงานทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนา หรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบการประสบอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยของพนักงาน
2. ส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาพยาบาล
ในการส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น HR หรือนายจ้างสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้
• กรณีที่ 1 ส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน สามารถส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาโดยใช้แบบ กท.44 กรณีนี้นายจ้างและพนักงานผู้ประสบอุบัติเหตุไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองก่อน สถานพยาบาลนั้น ๆ จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน
• กรณีที่ 2 ส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน สามารถส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลใดก็ได้ ทั้งของภาครัฐหรือเอกชน แต่ต้องเป็นสถานพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอนุญาตให้ทำการรักษา และลงชื่อรับรองในความเห็นของแพทย์ กรณีนี้นายจ้างหรือพนักงานผู้ประสบอุบัติเหตุจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐานขอเบิกเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้
Tips! คลิกเพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับ >> สิทธิประโยชน์จากความคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทน <<
เอกสารและหลักฐานที่ใช้ในการแจ้งขอรับเงินทดแทน
เอกสารและหลักฐานสำคัญที่ใช้ในการแจ้งประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน และขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน มีดังนี้
1. แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16)
2. แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) กรณีที่นายจ้างส่งตัวเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยใช้ทั้งต้นฉบับและสำเนา
3. ใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาล
4. ใบเสร็จรับเงิน (กรณีนายจ้าง/พนักงานสำรองจ่าย)
5. เอกสารแสดงการเสียชีวิต (กรณีเสียชีวิต)
สรุป HR ต้องทำอย่างไร เมื่อพนักงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน
อุบัติเหตุจากการทำงานเป็นเรื่องสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกสถานประกอบการ โดยกฎหมายได้ให้ความคุ้มครองลูกจ้างด้วยการกำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนเพื่อจ่ายค่าทดแทนต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงาน สิ่งที่ HR หรือนายจ้างควรทำเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว คือ แจ้งต่อกองทุนเงินทดแทนประกันสังคม และส่งตัวพนักงานเข้ารับการรักษาพยาบาล พร้อมกับดำเนินการยื่นเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องให้กับกองทุนเงินทดแทน ได้แก่ แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (กท.16) แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44) และใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาล