PageView Facebook
date_range 18/06/2024 visibility 6818 views
bookmark HR Knowledge
สวัสดิการคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้างตามที่กฎหมายกำหนด - blog image preview
Blog >สวัสดิการคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้างตามที่กฎหมายกำหนด

สวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่นายจ้างควรจัดให้มี โดยสวัสดิการคืออะไร มีกี่ประเภท มีอะไรบ้างที่เป็นสวัสดิการตามกฎหมาย และนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ไปดูกันเลย


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:

มัดรวมสวัสดิการเจ๋ง ๆ ที่ช่วยมัดใจพนักงานให้อยู่ยาว

สวัสดิการที่ทุกบริษัทต้องมีตามกฎหมายแรงงาน

สวัสดิการ คืออะไร สำคัญอย่างไรกับพนักงานและองค์กร

10 สวัสดิการที่ “พนักงาน” ให้ความสำคัญมากที่สุด

สวัสดิการพนักงานยุคใหม่ ที่พนักงานอยากได้และน่าสนใจ


สวัสดิการคืออะไร

สวัสดิการหรือสวัสดิการแรงงาน คือ การดำเนินการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งในด้านกายและใจ มีสุขภาพดี ปลอดภัยในการทำงาน มีความก้าวหน้า และมีความมั่นคงในชีวิต รวมถึงครอบครัวของลูกจ้างด้วย การดำเนินการเพื่อจัดสวัสดิการในสถานประกอบการนั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีภารกิจ 3 ประการ ได้แก่:

  • กำหนดและพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการ
  • ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการให้มีการจัดสวัสดิการ
  • ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

สวัสดิการมีกี่ประเภท

การกำหนดและพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการนี้ สวัสดิการแรงงานได้ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ



  1. สวัสดิการแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด
  2. สวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

โดยรายละเอียดของทั้ง 2 สวัสดิการนั้นมีรายละเอียดดังนี้


สวัสดิการแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด



สวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบการ


ข้อ 1 สิ่งที่นายจ้างจัดให้มี

ในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้มีน้ำดื่มสะอาด และห้องน้ำ ตามรายละเอียดดังนี้

  • น้ำดื่มสะอาด: นายจ้างต้องจัดน้ำดื่มสะอาดให้ไม่น้อยกว่าหนึ่งจุดสำหรับลูกจ้างทุก 40 คน และเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วน ซึ่งเศษของ 40 คนนั้น หากเกิน 20 คนให้ถือเป็น 40 คน
  • ห้องน้ำและห้องส้วม: นายจ้างต้องจัดห้องน้ำและห้องส้วมแยกสำหรับลูกจ้างชายและหญิง ตามจำนวนและรูปแบบที่กฎหมายกำหนด และต้องดูแลความสะอาดทุกวัน นอกจากนี้ หากมีลูกจ้างที่เป็นคนพิการ นายจ้างต้องจัดห้องน้ำและห้องส้วมแยกสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ

 

ข้อ 2 สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล

ในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล ดังต่อไปนี้


2.1 สถานที่ทำงานที่มีพนักงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างหรือพนักงานตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ ได้แก่ กรรไกร แก้วยาน้ำ/แก้วยาเม็ด เข็มกลัด ถ้วยน้ำ ที่ป้ายยา ปรอทวัดไข้ ปากคีบปลายทู่ ผ้าพันยืด ผ้าสามเหลี่ยม สายยางรัดห้ามเลือด สำลี/ผ้าก๊อซ/ผ้าพันแผล/ผ้ายางปลาสเตอร์ปิดแผล หลอดหยดยา ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือโพวิโดน-ไอโอดีน น้ำยาโพวิโดน-ไอโอดีน ชนิดฟอกแผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ ยาแก้ผดผื่นที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ ยาแก้แพ้ ยาทาแก้ผดผื่นคัน ยาธาตุน้ำแดง ยาบรรเทาปวดลดไข้ ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เหล้าแอมโมเนียหอม แอลกอฮอล์เช็ดแผล ขี้ผึ้งป้ายตา ถ้วยล้างตา น้ำกรดบอริคล้างตา ยาหยอดตา

 

2.2 สถานที่ทำงานที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป

สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างหรือพนักงานทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีรายละเอียดดังนี้

  • เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตาม 2.1
  • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงอย่างน้อย 1 เตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ใน 2.1 ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาล เบื้องต้น
  • มีพยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปประจำอย่างน้อย 1 คนตลอดเวลาทำงาน
  • มีแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมเวลาไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงในเวลาทำงาน

 

2.3 สถานที่ทำงานที่มีพนักงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป

สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่หนึ่ง 1,000 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีรายละเอียดดังนี้

  • เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลตาม 2.1
  • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงอย่างน้อย 1 เตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ใน 2.1 ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาล เบื้องต้น
  • มีพยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปประจำอย่างน้อย 2 คนตลอดเวลาทำงาน
  • มีแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อย 1 คน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมเวลาไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงในเวลาทำงาน
  • ยานพาหนะซึ่งพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลเพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ โดยพลัน

 

ข้อ 3 นายจ้างอาจทำความตกลงเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาล

นายจ้างอาจทำความตกลงเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาล ที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมงและเป็นสถานพยาบาลที่นายจ้างอาจนำลูกจ้าง ส่งเข้ารับการ รักษาพยาบาลได้โดยความสะดวกและรวดเร็ว แทนการจัดให้มีแพทย์ตามข้อ 2.2 หรือข้อ 2.3 ได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดี มอบหมาย

 

สวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

สวัสดิการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด หมายถึง สวัสดิการหรือผลประโยชน์เพิ่มเติมที่นายจ้างมอบให้แก่พนักงาน นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยวัตถุประสงค์ของสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายคือเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ สร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้แก่พนักงาน และส่งเสริมสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงาน โดยสวัสดิการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดแบ่งออกเป็น 6 หมวดใหญ่ ๆ ดังนี้

 


1. สวัสดิการที่มุ่งพัฒนาลูกจ้าง

  • การส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกเวลาทำงาน
  • การจัดตั้งโรงเรียนในโรงงาน
  • การอบรมความรู้เกี่ยวกับการทำงานทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน
  • การจัดให้มีห้องสมุด หรือมุมอ่านหนังสือเป็นต้น

 

2. สวัสดิการที่ช่วยเหลือในเรื่องค่าครองชีพ

  • การจัดตั้งร้านค้าสวัสดิการหรือสหกรณ์ร้านค้า
  • การให้เงินช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ
  • การจัดชุดทำงาน
  • การจัดหอพัก
  • การจัดให้มีรถรับ-ส่งพนักงาน
  • เงินโบนัส ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน ค่าเข้ากะ

 

3. สวัสดิการที่ช่วยเหลือการออมของลูกจ้าง

  • สหกรณ์ออมทรัพย์
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

4. สวัสดิการที่พัฒนาสถาบันครอบครัวของลูกจ้าง

  • การจัดสถานเลี้ยงดูบุตรของลูกจ้าง
  • การช่วยค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว
  • การช่วยเหลือค่าเล่าเรียนบุตรของลูกจ้าง
  • การประกันชีวิตให้กับลูกจ้าง

 

5. สวัสดิการที่ส่งเสริมความมั่นคงในอนาคต

  • เงินบำเหน็จ
  • เงินรางวัลทำงานนาน
  • ให้ลูกจ้างซื้อหุ้นของบริษัท
  • กองทุนฌาปนกิจ
  • เงินกู้เพื่อสวัสดิการที่พักอาศัย

 

6. สวัสดิการนันทนาการและสุขภาพอนามัย

  • การจัดทัศนศึกษา
  • การแข่งขันกีฬา
  • การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์พนักงาน
  • การให้ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัย

 

สรุปสวัสดิการคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

สวัสดิการ คือ การดำเนินการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ลูกจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งในด้านกายและใจ มีสุขภาพดี ปลอดภัยในการทำงาน โดยสวัสดิการนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สวัสดิการแรงงานตามที่กฎหมายกำหนด และสวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด

hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้