ทำความรู้จักกับสัญญา NDA คืออะไร มีลักษณะเป็นแบบไหน และมีความสำคัญอย่างไรบ้างต่อองค์กร บทความนี้จะพาทุกท่านมาไขคำตอบ ไปดูกันเลย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม:
- เงินเดือนพนักงาน ทำไมต้องเป็นความลับ?
- ทำไมต้องทำ? PDPA กับ HR ในองค์กร
- แจกไฟล์ตัวอย่างหนังสือให้ความยินยอมใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
- ปลุก HR ให้พร้อมรับมือกับ PDPA ด้วยโปรแกรม HR
- ผลงานอันเกิดจากการว่าจ้าง ใครเป็นเจ้าของตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ทำความรู้จักกับ NDA คืออะไร
NDA ย่อมาจาก Non-Disclosure Agreement คือ สัญญารักษาความลับทางธุรกิจ เป็นข้อตกลงทางกฎหมายระหว่างคู่สัญญาสองฝ่ายหรือมากกว่านั้นที่มีวัตถุประสงค์เก็บรักษาข้อมูลอันเป็นความลับเชิงธุรกิจ เช่น ข้อมูลสำคัญทางธุรกิจหรือการค้า รายชื่อและข้อมูลลูกค้า การเจรจาซื้อขาย กรรมวิธีการผลิตที่เป็นสูตรลับเฉพาะ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นต้น โดยข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลให้กับบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต หากข้อมูลถูกเปิดเผยออกไปอาจทำให้คู่สัญญาเจ้าของข้อมูลความลับนั้นได้รับความเสียหาย หรือเสียเปรียบทางธุรกิจได้
สัญญา NDA มีลักษณะอย่างไรบ้าง
ลักษณะของสัญญา NDA หรือสัญญารักษาความลับ โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ ตามจำนวนคู่สัญญาผู้มีหน้าที่เก็บรักษาความลับ ดังนี้
1. สัญญา NDA แบบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ข้อตกลงที่มีเพียงฝ่ายเดียวที่ต้องเปิดเผยหรือแบ่งปันข้อมูลความลับกับอีกฝ่าย เช่น พนักงานได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล Username และ Password ของบริษัทและมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูล ในกรณีเช่นนี้ สัญญาเก็บรักษาความลับจะมีคู่สัญญาผู้มีหน้าที่ต้องเก็บรักษาความลับเพียงฝ่ายเดียว
2. สัญญา NDA แบบทั้งสองฝ่าย
ข้อตกลงที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเปิดเผยหรือแบ่งปันข้อมูลความลับให้แก่กัน และทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูลของอีกฝ่าย โดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีสถานะเป็นทั้งผู้เปิดเผยข้อมูลและผู้รับข้อมูลในเวลาเดียวกัน เช่น บริษัท A และบริษัท B กำลังร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงมีการทำ NDA เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนกัน
3. สัญญา NDA แบบหลายฝ่าย
ข้อตกลงรักษาความลับที่ครอบคลุมตั้งแต่สามฝ่ายขึ้นไปที่เปิดเผยข้อมูลร่วมกัน โดยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่ายอาจเปิดเผยข้อมูล และฝ่ายที่ได้รับข้อมูลทั้งหมดมีหน้าที่รักษาความลับของข้อมูลดังกล่าว เช่น บริษัท A บริษัท B และบริษัท C กำลังร่วมกันพัฒนาโครงการเทคโนโลยีใหม่ จึงมีการทำ NDA เพื่อปกป้องข้อมูลที่ทั้งสามฝ่ายแลกเปลี่ยนกัน
สัญญา NDA มีกี่ประเภท
ประเภทของสัญญา NDA สามารถแบ่งตามกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาได้ 2 ประเภท คือ แบบที่มีวันสิ้นสุด และแบบที่ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนี้
1. สัญญา NDA แบบมีวันสิ้นสุด
ข้อตกลงรักษาความลับที่มีวันหมดอายุ กล่าวคือเมื่อระยะเวลาที่ตกลงกันสิ้นสุดลงแล้ว ฝ่ายเปิดเผยข้อมูลจะปลดเปลื้องฝ่ายรักษาข้อมูลออกจากข้อตกลง โดยอาจกำหนดวันที่สิ้นสุดไว้หรือให้สิ้นสุดเมื่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจจบลง
2. สัญญา NDA แบบไม่มีวันสิ้นสุด
ข้อตกลงรักษาความลับที่ไม่มีวันหมดอายุ คือสัญญาที่ฝ่ายรักษาข้อมูลจะต้องเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับไปตลอดระยะเวลาในการทำงานร่วมกันกับฝ่ายเปิดเผยข้อมูล หรือจนกว่าข้อมูลจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ
สัญญา NDA มีความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร
สัญญา NDA หรือสัญญารักษาความลับมีความสำคัญยิ่งในบริบทขององค์กรหรือธุรกิจ ดังนี้
1. รักษาความลับทางธุรกิจ
การรักษาความลับทางธุรกิจช่วยเก็บรักษาข้อมูลสำคัญเชิงธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาด ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลบัญชีโปรแกรมต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งหากข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลอาจทำให้บริษัทเกิดความเสียหายได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าพนักงานจะไม่นำข้อมูลเหล่านี้ออกไปเปิดเผย
2. ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
การรักษาความลับทางธุรกิจช่วยปกป้องผลงานอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท เช่น สูตรลับเฉพาะ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ซอฟต์แวร์หรือเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนา หรือข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของบริษัท ไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยบุคคลอื่น
3. รักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน
การรักษาความลับทางธุรกิจช่วยให้บริษัทสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไอเดียหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นหรือกำลังพัฒนาอยู่จะไม่รั่วไหลออกไปให้คู่แข่งได้รับรู้
4. สร้างความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทกับพนักงาน
สัญญา NDA ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างบริษัทกับพนักงาน บริษัทจะมั่นใจได้ว่าพนักงานจะไม่นำข้อมูลสำคัญของบริษัทออกไปเปิดเผย ในขณะเดียวกันพนักงานเองก็จะรู้สึกมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาจะได้รับการปกป้องเช่นกัน
5. ป้องกันการนำข้อมูลของบริษัทไปใช้ในทางที่ผิดหลังจากพนักงานลาออก
กรณีพนักงานลาออกจากงานไปแล้ว แต่ NDA ยังคงมีผลบังคับใช้ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานนำข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากบริษัทไปใช้ในบริษัทใหม่ หรือนำไปเปิดเผยให้กับคู่แข่ง
6. ป้องกันการฟ้องร้อง
ในกรณีที่เกิดข้อพิพาท สัญญา NDA สามารถเป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ละเมิดสัญญา
สัญญา NDA คืออะไร มีลักษณะและความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร
NDA คือ สัญญารักษาความลับทางธุรกิจ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะตามจำนวนคู่สัญญาผู้มีหน้าที่เก็บรักษาความลับ ได้แก่ สัญญา NDA แบบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สัญญา NDA แบบทั้งสองฝ่าย และสัญญา NDA แบบหลายฝ่าย ในส่วนของประเภทของสัญญา NDA สามารถแบ่งตามกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาได้ 2 ประเภท คือ แบบที่มีวันสิ้นสุด และแบบที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทั้งนี้สัญญา NDA ยังมีความสำคัญต่อองค์กรหรือธุรกิจ คือ รักษาความลับทางธุรกิจ ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา รักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทกับพนักงาน ป้องกันการนำข้อมูลของบริษัทไปใช้ในทางที่ผิดหลังจากพนักงานลาออก และป้องกันการฟ้องร้อง เป็นต้น
NDA จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรหรือบริษัทควรให้ความสำคัญในการปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับ และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างนายจ้างและพนักงานเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย