Turnover Rate ตัวบ่งชี้ที่ดีของวัฒนรรมในองค์กร ช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ วางแผนเพื่อลดอัตราการลาออก และรักษาพนักงานให้คงอยู่กับองค์กรได้มากขึ้น
turnover rate คืออะไร
turnover rate คือ “อัตราการลาออกของพนักงาน” เป็นเปอร์เซ็นต์ที่พนักงานออกจากองค์กรในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งเปอร์เซ็นต์นี้มีความสำคัญต่อองค์กรสามารถบ่งบอกถึงวัฒนธรรมในองค์กร การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ความสุขของพนักงานในองค์กร รวมไปถึงความมั่นคงและความก้าวหน้าขององค์กรนั้น ๆ
การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในองค์กรเพื่อให้ความสำเร็จ และความยั่งยืนในองค์กรอัตราการลาออก (Turnover Rate) เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ช่วยวัดปริมาณพนักงานที่ต้องการลาออกจากองค์กร การที่พนักงานต้องการลาออกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การทำความเข้าใจในปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการลาออกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญในการวางแผนและปรับปรุงองค์กร เพื่อทำให้มีการเสริมสร้างและควบคุมอัตราการลาออกให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
วิธีการคำนวณ turnover rate
การคำนวณ Turnover rate ฝ่ายบุคคล หรือ HR สามารถเลือกระยะเวลาที่ต้องการคำนวณเป็นรายเดือน ไตรมาส หรือรายปีได้ ซึ่งอัตราการลาออกของพนักงาน (turnover rate) สามารถคำนวณได้ดังนี้
ขั้นที่ 1
หาจำนวนพนักงานโดยเฉลี่ย = (จำนวนพนักงานเริ่มต้น + จำนวนพนักงานสุดท้าย) / 2
ขั้นที่ 2
หา Turnover Rate = (จำนวนพนักงานที่ลาออก / จำนวนพนักงานโดยเฉลี่ย) x 100
ตัวอย่างการคำนวณ Turnover Rate
บริษัท ตัวอย่าง จำกัด ช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 มีพนักงานรวมทั้งหมด 50 คน
ในระหว่างปี 2022 มีพนักงานลาออก 5 คน และรับพนักงานใหม่เข้ามา 10 คน
สิ้นเดือนธันวาคม 2022 มีพนักงานรวมทั้งหมด 55 คน
สามารถคำนวณได้ดังนี้
จำนวนพนักงานโดยเฉลี่ย = (50 + 55) / 2 = 52.5
Turnover Rate = (5 / 52.5) x 100 = 9.5%
ดังนั้น บริษัท ตัวอย่าง จำกัด Turnover Rate ในปี 2022 คือ 9.5%
turnover rate ไม่ควรเกินเท่าไหร่
ในส่วนของ turnover rate นั้นไม่มีเปอร์เซ็นต์หรือตัวเลขที่กำหนดตายตัว เนื่องจากแต่ละสายงานหรือแต่ละอุตสาหกรรมมี turnover rate ที่แตกต่างกันออกไป แต่ค่าเฉลี่ยของ Turnover Rate ควรอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 %
ปัจจัยที่ทำให้เกิด Turnover Rate
การเกิด Turnover Rate หรืออัตราการลาออกของพนักงานเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยที่เกิดจากตัวของพนักงานเองและปัจจัยที่เกิดจากองค์กร
ปัจจัยที่เกิด Turnover Rate จากพนักงาน
- ปัญหาทางด้านสุขภาพของพนักงาน
- อิ่มตัวกับงานที่ทำอยู่
- ความไม่พอใจในสภาพแวดล้อมที่ทำงาน
- ต้องการค่าตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้น หรือต้องการโอกาสที่ดีกว่า
ปัจจัยที่เกิด Turnover Rate จากองค์กร
- ปัญหาเรื่องผู้ร่วมงาน เกิดความขัดแย้งกันในองค์กรหรือระหว่างทีม
- โครงสร้างองค์กรที่มีปัญหา
- องค์กรไม่ให้ความสำคัญในตัวพนักงาน
- สวัสดิการไม่ตอบโจทย์
Tips! สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >>> รวมสาเหตุการลาออกของพนักงานที่หัวหน้าทีมและ HR ต้องทำความเข้าใจ
กลยุทธ์การลดอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate)
การคำนวณอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate) ช่วยให้สามารถวางแผนและจัดการในเรื่องของอัตราการลาออกของพนักงาน เพื่อรักษาพนักงานและบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่กับบริษัทได้นานมากขึ้น
1. วัดอัตราการลาออกของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
การวัดอัตราการลาออกของพนักงานช่วยให้ทราบถึงอัตราและปัญหาการลาออกของพนักงานภายในองค์กร สามารถช่วยวิเคราะห์และวางแผนงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพและควบคุมการลาออกได้ดียิ่งขึ้น
2. มอบโอกาสให้พนักงานในการเติบโต
มอบโอกาสในการพัฒนาและเส้นทางการเติบโตอาชีพให้กับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งในเรื่องของการจัดฝึกอบรม ให้ Feedback รวมไปถึงการเลื่อนตำแหน่ง
3. เปิดโอกาสให้พนักงานได้ร่วมแสดงความคิดเห็น
การเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือเข้ามามีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้พนักงานได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงว่าความคิดเห็นของพนักงานนั้นมีความสำคัญ
4. มีสวัสดิการที่เหมาะสม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสวัสดิการมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกทำงานในองค์กรของพนักงาน ดังนั้นองค์กรควรมีสวัสดิการรองรับต่อพนักงานให้มีความเหมาะสม เช่น ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การเบิกเงินล่วงหน้า และสวัสดิการอื่น ๆ
5. สอบถามพูดคุยกับพนักงานอยู่เสมอ
การพูดคุยกับพนักงานอยู่สม่ำเสมอถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สร้างบรรยากาศในการทำงาน และลดช่องว่างในการทำงานของ HR และพนักงาน ช่วยให้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่พนักงานอาจติดปัญหาในเรื่องของการทำงานและร่วมกันแก้ไขได้ ส่งผลให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานและมีประศักยภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น
สรุปบทความเกี่ยวกับอัตราการลาออก (Turnover Rate)
อัตราการลาออก (Turnover Rate) เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยวัดความน่าเชื่อถือขององค์กรและปริมาณพนักงานที่ต้องการลาออกจากองค์กร สาเหตุของอัตราการลาออกอาจมาจากแง่มุมต่าง ๆ ทั้งของพนักงานและองค์กร ผลกระทบของอัตราการลาออกสามารถส่งผลกระทบต่อองค์กรและพนักงานเช่นกัน การวางแผนและการจัดการให้มีการเสริมสร้างและควบคุมอัตราการลาออกเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้องค์กรทำงานได้ต่อเนื่องและเติบโตอย่างยั่งยืน