ปัจจัยที่จะผลักดันให้งานประสบความสำเร็จได้อย่างดี คือการสร้าง Teamwork แต่สร้างอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ติดตามได้ในบทความนี้เลย
Teamwork คืออะไร
Teamwork หรือ การทำงานเป็นทีม คือ การทำงานร่วมกันของกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันหรือเป้าหมายร่วมกัน ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป เพื่อทำให้งานเสร็จสมบูรณ์อย่างมีคุณภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยแบ่งงานกันอย่างเป็นระบบ พัฒนาทักษะซึ่งกันและกัน และผู้ปฏิบัติงานต่างก็เกิดความพอใจในการทำงาน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการทำงานในฝันของใครหลายคนก็ว่าได้ เพราะผลลัพธ์ที่ได้นั้น มักจะประสบผลสำเร็จได้อย่างสูงสุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี
ทำให้องค์กรสามารถเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และสิ่งนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันบุคลากรให้พัฒนาตัวเอง ไปพร้อมๆ กับคนในทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำงานเข้าขากัน มีความสนิทชิดเชื้อกัน และเมื่อผลงานเป็นที่พอใจ ก็สามารถปรับเลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือนขึ้นพร้อมๆ กันทั้งทีมอีกด้วย
เทคนิคสร้าง Teamwork ให้มีประสิทธิภาพ
การสร้าง Teamwork ให้มีประสิทธิภาพนั้น เป็นเรื่องสำคัญของการทำงานเป็นทีม ซึ่งเทคนิคดังต่อไปนี้ จะสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างและส่งเสริม Teamwork ให้กับองค์กรได้
1. การโฟกัสเป้าหมายร่วมกัน
การทำงานเป็น Teamwork ควรเริ่มตั้งแต่การวางแผนสร้างเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ร่วมกัน
เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายนั้น ควรกำหนดอย่างชัดเจนและให้ทุกคนในทีมรับทราบ เพราะหากทุกคนในทีมเข้าใจเป้าหมายที่ตรงกันแล้ว การทำงานต่างๆ ก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่เสียเวลาเปล่า และไม่หลงทาง
นอกจากนั้น ควรมีการกำหนดกฎระเบียบ และขอบข่ายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจนด้วย เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบ ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความสำเร็จของทีมได้ มีการเคารพซึ่งกันและกัน โดยกฎระเบียบ หรือหน้าที่ต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมานั้น ควรได้รับการเห็นพ้องต้องกันจากสมาชิกทุกคน และเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้เข้าใจง่าย และสามารถทำได้จริง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ปฏิบัติตามได้ง่าย และบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
2. จัดทีมด้วยจุดเด่นของแต่ละคน
การวางโครงสร้างและตำแหน่งหน้าที่ของแต่ละคนในทีมก็เป็นเรื่องสำคัญ ในการสร้างTeamwork ให้มีประสิทธภาพ หากสามารถกำหนดหน้าที่ของแต่ละคนตามความสามารถ ตำแหน่งและประสบการณ์ หัวหน้าทีก็ควรมองหาจุดเด่นของสมาชิกแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงาน หรือทัศนคติต่างๆ เพราะจุดเด่นและสไตล์การทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เหมือนการต่อจิ๊กซอว์แต่ละอันให้รวมเป็นหนึ่งเดียว หรือการมีบัดดี้เพื่อรองรับการทำงานซึ่งกันและกัน จะสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิกในทีมได้และลดความผิดพลาดให้น้อยลงด้วย
3. หัวหน้าทีมที่มีความเป็นผู้นำ
คำว่าผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเป็นหัวหน้าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการกล้าตัดสินใจ กล้าแสดงความคิดเห็น รู้หน้าที่ของตนเอง มีข้อเสนอแนะที่ดีให้เพื่อนร่วมทีมอยู่เสมอ และในขณะเดียวกัน หากมีผู้อื่นแสดงความเป็นผู้นำด้วย ก็สามารถเป็นผู้ตามที่มีวิสัยเปิดกว้าง ซึ่งการเป็นผู้นำที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถวัดระดับได้ แต่สมาชิกในทีมจะสามารถสัมผัสได้ ด้วยการแสดงออก และความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จของหัวหน้า เมื่อหัวหน้ามีความมุ่งมั่นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อมั่นจากสมาชิกในทีม ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญในการทำงานให้มีความร่วมมือร่วมใจ ทำงานไปในทิศทางเดี่ยวกัน จนเกิดเป็น Teamwork ที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง
4. เพิ่มความสนิทสนม และสานสัมพันธ์ร่วมกัน
หลายๆ องค์กรที่มีนโยบายละลายพฤติกรรมของทีม เช่น การไปเที่ยว Outing กิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร และเมื่อมีความสนิทสนมระดับนึงแล้ว ก็จะทำให้การทำงานในทีมมีความราบรื่นมากขึ้น มีความเข้าอกเข้าใจในกันและกันมากขึ้น มีความเป็น Teamwork ที่ดีมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเครียดจากการทำงานได้อีกด้วย
5. แลกเปลี่ยนข้อมูลภายในทีม
การทำงานเป็น Teamwork นั้น แน่นอนว่าต้องมีการใช้ข้อมูลต่างๆ ร่วมกันอยู่เสมอ เพราะเราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน หากสมาชิกมีการแชร์ข้อมูลทั้งหมดให้กันก็จะทำให้การทำงานบางอย่างมีความสะดวกรวดเร็วและลดความผิดพลาดได้มากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลของสินค้าหรือบริการ ข้อมูลลูกค้า เอกสารสำคัญต่างๆ ซึ่งสมาชิกในทีมควรจัดเก็บข้อมูลไว้ในที่ๆ สมาชิกคนอื่นเข้าถึงได้ หรือบางทีมอาจมีการอัพเดทการทำงานอยู่ตลอดเวลา หรือสามารถใช้ระบบต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานให้เข้าถึงง่ายขึ้น เช่น ทีม HR สามารถใช้โปรแกรมบริหารงานบุคคล เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องข้อการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายกับสมาชิกทุกคน และยังมีการจัดการที่เป็นระบบแจ้งเตือนให้รับทราบอยู่ตลอดเวลาด้วย
6. เพิ่มศักยภาพของคนในทีม
อีกหนึ่งเรื่องสำคัญหลังจากที่หัวหน้ารู้จักสมาชิกในทีมอย่างลึกซึ้งแล้ว รู้จักจัดแข็งจุดอ่อนของสมาชิกในทีมแล้ว ก็ควรเลือกวิธีการเพิ่มศักยภาพของสมาชิกในทีมให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น สมาชิกในทีมบางคนอาจยังไม่รู้เนื้อหาของงานได้ดีพอ แต่มีจุดเด่นคือเป็นคนเรียนรู้เร็ว เปิดรับการเรียนรู้อยู่เสมอ หัวหน้าที่ก็ต้องสวมบทบาทเป็นโค้ชที่มอบความรู้ต่างๆ ให้กับสมาชิก เพื่อปิดจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งให้กับทีม เพื่อการสร้าง Teamwork ที่มีประสิทธภาพ เกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน หรือที่เรียกว่า Team Building นั่นเอง
7. การประเมินผลงานของทีม
จริงๆ แล้ว การประเมินผลงานนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานทุกอย่าง ทุกขั้นตอน รวมถึงการสร้าง Teamwork ให้มีประสิทธิภาพด้วย เพราะการประเมินนั้น จะทำให้ทีมของเราทราบว่า ทีมทำงานเป็นอย่างไร มีจุดแข็ง จุดอ่อนตรงไหน ควรปรับปรุงอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้ตามแผนการที่วางไว้ อีกทั้งหัวหน้าทีมยังสามารถนำการประเมินนี้ไปปรับปรุงโครงสร้างระบบการทำงานของทีมได้อีกด้วย และสุดท้าย หากทีมได้ผลการประเมินที่ดี ก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจ ความภาคภูมิในให้กับสมาชิกในทีม และมีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นต่อไปอีกด้วย
สรุปการสร้าง Teamwork ให้มีประสิทธิภาพ
การสร้าง Teamwork ให้มีประสิทธิภาพ นั้น ย่อมเกิดจากการทำงานร่วมกันของสมาชิกในทีม ซึ่งหากสมาชิกทุกคนในทีม สามารถทำงานตามเทคนิคดังที่กล่าวข้างต้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
แน่นอนว่าย่อมสร้างผลสำเร็จในการทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม และยังส่งเสริมการพัฒนาองค์กรและบุคลากรให้เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย
30/08/2023 12993 views
HR Knowledge