PageView Facebook
date_range 22/12/2023 visibility 5927 views
bookmark HR Knowledge
ค่าใช้จ่ายงานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท จัดการภาษีอย่างไร? - blog image preview
Blog >ค่าใช้จ่ายงานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท จัดการภาษีอย่างไร?

ค่าใช้จ่ายจากการจัดงานเลี้ยงบริษัท การแจกของรางวัลให้พนักงานนั้น มีวิธีจัดการในด้านภาษีบริษัทอย่างไร มาดูกันในบทความนี้


บทความเกี่ยวข้องที่คุณอาจสนใจ :



วิธีจัดการภาษีบริษัทจากการจัดงานเลี้ยงและแจกของรางวัล


ในทุกๆ ปีของแต่ละองค์กรล้วนมีการจัดงานเลี้ยงตามเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะงานกิจกรรมปีใหม่บริษัท และอาจจะเป็นวันสรุปยอด สรุปเป้าหมายสำคัญต่างๆ ของแต่ละบริษัทด้วย เป็นการจัดงานที่มักมีการแจกของรางวัลให้กับพนักงานที่ช่วยกันตั้งใจทำงาน และผ่านอุปสรรคกันมาอย่างมากมายตลอดปี โดยการแจกของรางวัล การชิงโชค หรือการจัดงานเลี้ยงพร้อมกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทนั้น ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัททั้งสิ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้ง HR และงานด้านบัญชีที่จะต้องวางแผนและจัดการค่าใช้จ่ายทั้งหมด และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายนั้นต้องคำนึงถึงการจัดการภาษีต่างๆ ของบริษัทด้วย


ประเภทของการแจกรางวัลในบริษัท


ตามหลักของสรรพากรแล้ว การแจกรางวัลในองค์กรสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กรณีดังนี้



1. การแจกรางวัล กรณีไม่มีในระเบียบบริษัท

การแจกรางวัลกรณีนี้คือ การจัดงานเลี้ยง และการแจกรางวัลที่ไม่เคยกำหนดไว้ในระเบียบของบริษัท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ ตามรายละเอียดในส่วนต่างๆ ดังนี้


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : ไม่เข้าเงื่อนไขของการมีเงินได้ ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องไม่หัก ณ ที่จ่าย

ภาษีนิติบุคคล : ถือเป็นการให้โดยเสน่หา เจาะจงให้ บริษัทจึงจะนำรายจ่ายนั้นมาเป็นรายค่าใช้จ่ายไม่ได้ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (3)

บุคคลธรรมดา : เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นสำหรับบุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (28)


2. การแจกรางวัล กรณีมีอยู่ในระเบียบบริษัท

การแจกรางวัลในงานจัดเลี้ยงประจำปีตามนโยบายของบริษัท ในกรณีที่บริษัทได้กำหนดไว้ในระเบียบบริษัท โดยสามารถถือเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : เป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (1) จึงต้องหัก ณ ที่จ่าย รวมกับเงินเดือน

ภาษีนิติบุคคล : การจ่ายสวัสดิการให้กับพนักงานถือเป็นการจ่ายเพื่อบริษัทโดยตรงไม่ต้องห้าม มาตรา 65 ตรี (13)

บุคคลธรรมดา : เป็นเงินได้พึงประเมิน


3. การแจกรางวัล กรณีใช้การชิงโชค

กรณีการแจกของรางวัลด้วยการชิงโชค ไม่ว่าจะเป็นเพื่อพนักงานหรือเพื่อส่งเสริมการขาย จะมีรายละเอียดในด้านภาษีบริษัทดังนี้


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : ผู้รับอาจเป็นใครก็ได้ หากมีการสุ่มของรางวัล การประกวด การแข่งขันชิงรางวัล การชิงโชค รายได้ดังกล่าวจะเข้าลักษณะเงินได้ ตามมาตรา 40 (8) จะต้องหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 5%

ภาษีนิติบุคคล : สามารถนำรายจ่ายนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายได้ หากจ่ายเพื่อส่งเสริมการขายหรือจ่ายตามวัตถุประสงค์ของกิจการไม่ต้องห้ามมาตรา 65 ตรี (13)

บุคคลธรรมดา : เป็นเงินได้พึงประเมิน


หลังจากที่ทราบแล้วว่าการแจกรางวัลของบริษัทในแต่ละกรณีนั้น จะมีการจัดการด้านภาษีบริษัทอย่างไร ก็มาดูกันต่อว่ารางวัลแต่ละประเภทนั้นมีอะไรบ้าง และมีต้องจัดการอย่างไรในด้านภาษี


ภาษีบริษัทกับของรางวัลแต่ละประเภท


1. รางวัลที่เป็น “เงินสด”

บริษัทมีนโยบายจัดงานเลี้ยงประจำปีที่ต่างจังหวัด และมอบเงินให้พนักงานสำหรับค่าเดินทางหรือค่าอาหารจำนวน 3,000 บาทต่อคน และมีกิจกรรมการแข่งขันชิงเงินรางวัล 20,000 บาท



จากกรณีตัวอย่างสามารถจัดการด้านภาษีบริษัทดังนี้


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : แบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้

  • กรณี เงินค่าอาหารหรือค่าเดินทาง 3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายจากนโยบายหรือสวัสดิการพนักงาน ให้รวมในเงินเดือนเพื่อหัก ณ ที่จ่ายเงินได้ มาตรา 40 (1) อัตราก้าวหน้า
  • กรณีกิจกรรมชิงเงินรางวัล 20,000 บาท ถือเป็นการชิงโชค หรือการแข่งขัน เงินรางวัลจะถูกหัก ณ ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(8) อัตรา 5%
  • บริษัทสามารถออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนพนักงานได้ แต่ภาษีส่วนที่ออกแทนต้องอยู่ในนโยบายระเบียบบริษัทและเงินส่วนนั้นถือเป็นเงินได้ของพนักงาน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เงินที่จ่ายนั้นไม่ถือเป็นการขายหรือการให้บริการจึงไม่ต้องเสียมูลค่าเพิ่ม

ภาษีนิติบุคคล : การจ่ายสวัสดิการพนักงานถือเป็นการจ่ายเพื่อบริษัทโดยตรง ไม่ต้องห้ามมาตรา 65 ตรี (13)

ภาษีบุคคลธรรมดา : ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ต้องนำมารวมเพื่อยื่น ภ.ง.ด. 90 ประจำปี


2. รางวัลเป็น “สิ่งของ”

ในระหว่างการจัดงานเลี้ยงประจำปีของบริษัท มีกิจกรรมจับฉลากชิงโชค สำหรับผู้โชคดีจะได้ของรางวัลเป็นสมาร์ทโฟน และแจกทองคำสำหรับพนักงานที่อายุงานครบ 9 ปี



จากกรณีตัวอย่างสามารถจัดการด้านภาษีบริษัทดังนี้


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : แบ่งเป็น 3 กรณีดังนี้

  • กรณีการจับฉลากชิงโชคเป็นสมาร์ทโฟนนั้น จะถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40(8) อัตรา 5%
  • กรณีแจกทองคำสำหรับพนักงานที่อายุงานครบ 9 ปีนั้น ถือเป็นสวัสดิการพนักงาน ให้รวมกับเงินเดือนเพื่อหัก ณ ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(1) อัตราก้าวหน้า
  • บริษัทสามารถออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนพนักงานได้ แต่ภาษีส่วนที่ออกแทนต้องอยู่ในนโยบายระเบียบบริษัทและเงินส่วนนั้นถือเป็นเงินได้ของพนักงาน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม : การให้สมาร์ทโฟน และทองคำ ถือเป็นการส่งมอบสินค้า บริษัทต้องนำมูลค่าซื้อของสินค้าไปรวมคำนวณเป็นฐานภาษีขาย และการซื้อของเพื่อมาจับฉลากชิงโชคและแจกตามนโยบายบริษัท ถือเป็นการจ่ายเพื่อกิจการภาษีซื้อไม่ต้องห้าม

ภาษีนิติบุคคล : การจ่ายสวัสดิการพนักงานถือเป็นการจ่ายเพื่อบริษัทโดยตรง ไม่ต้องห้ามมาตรา 65 ตรี (13)

ภาษีบุคคลธรรมดา : ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ต้องนำมารวมเพื่อยื่น ภ.ง.ด. 90 ประจำปี


3. รางวัลเป็น “Voucher ร้านนวด ร้านอาหาร”

ในระหว่างการจัดงานเลี้ยงประจำปีของบริษัท ได้ซื้อบัตรกำนัลสตาร์บัคส์ มูลค่าใบละ 200 บาท แจกให้กับพนักงานที่มาร่วมงานทุกคน



จากกรณีตัวอย่างสามารถจัดการด้านภาษีบริษัทดังนี้


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย : แบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้

  • กรณีการจ่ายตามนโยบายหรือสวัสดิการพนักงาน โดยให้ทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้รวมอยู่ในเงินเดือนเพื่อหัก ณ ที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40(1) อัตราก้าวหน้า
  • บริษัทสามารถออกภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนพนักงานได้ แต่ภาษีส่วนที่ออกแทนต้องอยู่ในนโยบายระเบียบบริษัทและเงินส่วนนั้นถือเป็นเงินได้ของพนักงาน

ภาษีมูลค่าเพิ่ม : การแจกบัตรกำนัลที่ใช้แทนเงินสดไม่ถือเป็นการขายหรือให้บริการ และไม่มีการจ่ายชำระเงิน จึงไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีนิติบุคคล : การจ่ายสวัสดิการพนักงานถือเป็นการจ่ายเพื่อบริษัทโดยตรง ไม่ต้องห้ามมาตรา 65 ตรี (3) (13)

ภาษีบุคคลธรรมดา : ถือเป็นเงินได้ของพนักงาน ต้องนำมารวมเพื่อยื่น ภ.ง.ด. 90 ประจำปี


สรุปวิธีจัดการภาษีจากการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของบริษัท


เรื่องภาษีบริษัทที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อมีการจัดเลี้ยงบริษัทตามประเพณี หรือการแจกรางวัลต่างๆ ให้กับพนักงาน คือ การกำหนดไว้ในระเบียบบริษัทว่า “การให้” “การจัดเลี้ยง” นี้ เป็นสวัสดิการพนักงาน โดยให้ทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เจาะจงคนใดเป็นพิเศษ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ เพราะในทางภาษีเงินได้ถือเป็นการให้โดยเสน่หา และอีกหนึ่งเรื่องที่ควรระมัดระวังคือ เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นการให้สิ่งของ หรือให้บริการ บริษัทมีหน้าที่ต้องนำจำนวนดังกล่าวไปเป็นฐานภาษีขายด้วย เพราะทางภาษีถือเป็นการขาย


ดังนั้นหากไม่ต้องการให้มีเรื่องปวดหัวในอนาคตจากเรื่องการจัดงานสังสรรค์ต่างๆ การให้รางวัลตอบแทนแก่พนักงาน จึงควรตรวจสอบเรื่องภาษีบริษัทให้ถูกต้องและชัดเจน




hms-helpful-shadow svg fileโปรแกรมเงินเดือน HumanSoft
ทดลองใช้ฟรี 30 วันครบทุกฟังก์ชัน
  • บริการขึ้นระบบ ฟรี
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
  • ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้